การผลิตปลาสวยงาม

การผลิตปลาสวยงาม

ทรง ศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์

ในสภาวะตลาดปลาสวยงามปัจจุบัน  ปลาสวยงามที่เพาะเลี้ยง เพื่อการค้าจำเป็น ต้องมีคุณภาพ โดยเน้นเรื่องการรักษาสายพันธุ์และการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ดังนั้น วิธีการ และขั้นตอนการเพาะเลี้ยง ควรมีการควบคุมและเอาใจใส่ปลาสวยงามที่เพาะเลี้ยงอย่างใกล้ชิดโดยจัดเตรียม สิ่งต่างๆ ตามมาตรฐาน ให้เหมาะสม ตามวิธีการและขั้นตอนทั้งทางด้านสถานที่เพาะเลี้ยง แหล่งน้ำ บ่อหรือภาชนะ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตลอดจนอาหารและการป้องกันรักษาโรคปลาต่างๆ  ซึ่งควรให้ความสำคัญ  ดังนี้

1.  การคัดเลือกสถานที่เพาะเลี้ยง
วันเพ็ญ มีนกาญจน์ และคณะ  (2543 : http://www.fisheries.go.th/fpo-phichit/newproduck/goldfish.htm) ได้กล่าวถึง  ในการคัดเลือกสถานที่เพาะเลี้ยง นับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก  ด้วยเหตุผลที่สำคัญหลายประการการคัดเลือกสถานที่ในการเลี้ยงปลาทอง ซึ่งจัดอยู่ในปลาสวยงามออกลูกเป็นไข่ จะต้องหา ทำเล ที่เหมาะสม โดยยึดหลักเกณฑ์ดังนี้
1)   ไม่เป็นที่อับแสงแดดหรือมีแสงแดดมากเกินไป   เพราะถ้าเป็นที่อับอากาศ หรืออับแสงจะทำให้ปลาสีซีดไม่แข็งแรง และหากแสงมากเกินไปจะมีผลในการดูแลความสะอาดเพราะน้ำเขียวเร็วเนื่องจากแสง แดดทำให้ตะไคร่น้ำเติบโตเร็วหากบ่ออยู่ในที่โล่งแจ้งควรใช้ตาข่ายกรองแสง ประมาณ 60%
2)  ไม่ควรอยู่ใกล้แหล่งสารเคมีที่มีพิษ โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อน สารพิษคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากในรอบปี สำหรับหน้าแล้งอาจเกิดสภาวะขาดน้ำ หรือน้ำเสียจากโรงงานเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์น้ำได้
3)  ไม่เป็นที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมหรือเสียงรบกวน  ทำให้ปลาตกใจเป็นประจำจะส่งผลถึงการกินอาหารของปลา และการเคลื่อนไหวร่างกายอาจผิดปกติได้
4)   บ่อไม่ควรอยู่ตรงชายคาที่มีน้ำตกพอดี  เพราะน้ำฝนที่มีคุณสมบัติเป็นกรดจะทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลามีคุณสมบัติ เปลี่ยนไป มีผลให้ปลาอ่อนแอติดโรคได้ง่าย
5)  ไม่เป็นที่ที่มีศัตรูของปลาหรือมีใบไม้ร่วง   เป็นสาเหตุให้น้ำเน่าหากมีศัตรูปลา เช่น นกหรือแมว ควรจะหาวัสดุป้องกัน เช่น ตาข่ายกั้นรอบบริเวณที่เพาะเลี้ยง
6)   ควรเป็นสถานที่ที่มีที่กำบังลมและแสงแดด   เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหัน โดยเฉพาะในฤดูหนาว
7)   ควรสร้างบ่อให้มีความลาดเอียง เพื่อให้สะดวกต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยสามารถระบายน้ำได้หมดทั้งยังสะดวกใน การทำความสะอาด ตากบ่อ และการกำจัดเชื้อโรค
8)    สร้างระบบน้ำ โดยมีท่อน้ำเข้า ท่อระบายน้ำออก ระบบเพิ่มอากาศที่มีประสิทธิภาพและมีอุปกรณ์สำรองเพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉิน กรณีไฟฟ้าดับ
9)   ควรกำจัดพาหะที่อาจนำโรคมาสู่ปลา  พาหะที่สามารถมองเห็นได้จากบริเวณสถานที่เลี้ยง เช่น คางคกหรือลูกหอยตัวเล็ก

2.   แหล่งน้ำและน้ำที่นำมาใช้เพาะเลี้ยง
วันเพ็ญ มีนกาญจน์  และคณะ  (2543 : http://www.fisheries.go.th/fpo-phichit/newproduck/goldfish.htm ) ได้กล่าวถึงน้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากในการเลี้ยงปลา เพราะมีผลต่อปลาโดยตรง เช่น   คุณภาพน้ำที่เหมาะสมจะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว ปลาไม่เกิดความเครียด สุขภาพดี แข็งแรงมีความต้านทานต่อโรคได้ดี น้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงที่ได้จากแหล่งต่าง ๆย่อมมีคุณสมบัติต่างกัน ดังนั้นการเลือกสถานที่ในการทำฟาร์ม ก็ควรคำนึงถึงแหล่งน้ำและคุณสมบัติน้ำเป็นปัจจัยต้น ๆน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทอง สามารถนำมาจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
1)   น้ำที่ได้จากลำคลอง หนอง บึง จะมีตะกอนดินและแร่ธาตุจากดิน และหินละลายในน้ำรวมทั้งจุลินทรีย์และปรสิตปะปนมาควรนำน้ำจากแหล่งนี้ไปปรับ ปรุงคุณภาพก่อนนำไปเลี้ยงปลาโดยใส่น้ำในบ่อพักเติมปูนขาว เพื่อช่วยในการตก ตะกอนให้เร็วขึ้น ฆ่าเชื้อโรคและปรับความเป็นกรด- ด่าง (pH) พักน้ำไว้ประมาณ 1 – 2 วัน ก็จะสามารถสูบน้ำไปใช้ได้
2)   น้ำบาดาล   เป็นน้ำที่สูบจากใต้ดิน มีแร่ธาตุละลายปนมา เช่น สนิมเหล็ก น้ำจะมีกลิ่นแร่ธาตุ กลิ่นโคลนและมีปริมาณออกซิเจนต่ำซึ่งแก้ไขโดยนำน้ำมาพักทิ้งไว้เพื่อช่วย เพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ น้ำบาดาลที่ได้จากแหล่งน้ำใต้ดินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงปลา จัดเป็นแหล่งน้ำที่ดีเพราะมีเชื้อโรคปนเปื้อนต่ำและสามารถใช้ได้ตลอดฤดูกาล
3)   น้ำประปา   น้ำประปาเป็นน้ำที่สะอาดและมีคุณสมบัติเหมาะสมนำมาใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้ดี เนื่องจากน้ำประปาผ่านการบำบัดและการกรองหลายขั้นตอน  ปราศจากเชื้อโรค แต่มีราคาแพงและมีปัญหาเรื่องปริมาณคลอรีนที่หลงเหลืออยู่ในน้ำ ซึ่งวิธีการกำจัดคลอรีนสามารถดำเนินการได้ดังนี้
(1)   พักน้ำไว้ 2-3 วันหรือพักไว้ในที่แจ้งตากแดดตลอดเวลา 24 ชั่วโมง คลอรีนจะแตกตัวระเหยไปกับอากาศ
(2)  ใช้กรองด้วยถ่านคาร์บอน (Ativated Carbon)
(3)   ถ้าต้องการใช้น้ำเลี้ยงปลาทันที สามารถเติมโซเดียม ไธโอซัลเฟต

3.   บ่อหรือภาชนะที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง
วันเพ็ญ มีนกาญจน์  และคณะ  (2543 : http://www.fisheries.go.th/fpo-phichit/ newproduck/goldfish.htm )ได้กล่าวถึง บ่อหรือภาชนะที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง ปลาสวยงามไว้ว่า
1)   ตู้ปลา ในกรณีที่มีตู้ปลาเก่า อาจใช้สำหรับอนุบาลลูกปลา เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หรือเพาะพันธุ์ได้ แต่ถ้าเป็นการลงทุนใหม่ไม่ควรซื้อตู้ปลาเพราะต้นทุนสูง
2)   อ่างซีเมนต์  เป็นอ่างซีเมนต์ขนาดเล็ก อาจซื้อสำเร็จรูปหรือทำขึ้นเองเป็นอ่าง สี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 60 x 80 เซนติเมตร  และมีความลึกประมาณ 20 – 25   เซนติเมตร หรือเป็นบ่อซีเมนต์กลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ  80 -120 เซนติเมตรและมีระดับความลึกประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร เหมาะสำหรับอนุบาลลูกปลาหรือนำมาใช้เลี้ยงปลา ที่คัดขนาดแล้วหรือจะใช้เพาะพันธุ์ก็ได้
3)   บ่อซีเมนต์  โดยปกติจะนิยมสร้างให้มีขนาด กว้าง x ยาว  เท่ากับ 2 x 2  หรือ 2 x 3 เมตรบ่อชนิดนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์   เพาะพันธุ์และเลี้ยงลูกปลาได้ทุกขนาดบ่อซีเมนต์ทุกประเภทก่อนที่จะนำมาใช้ ต้องมีการสร้างทำความสะอาดแช่น้ำไว้ประมาณ  1 สัปดาห์
แล้วถ่ายน้ำ ทิ้งเพื่อล้างและกำจัดปูนซีเมนต์ออกให้หมด
การสร้างบ่อปลาต้องคำนึงถึงระบบการกำจัดของเสียเป็นสำคัญ โดยการสร้างให้มี ความลาดเอียง เพื่อให้ของเสียและตะกอนไหลมารวมกันในพื้นที่ที่เป็นที่ต่ำ และสร้างท่อระบายน้ำออกตรงบริเวณนั้น โดยมีตะแกรงครอบบริเวณฝาท่ออีกที เมื่อถ่ายน้ำก็ดึงฝาครอบท่อออก ของเสียและตะกอนต่าง ๆ จะไหลปนไปกับน้ำ ซึ่งมีตะแกรงทำหน้าที่ป้องกันลูกปลาไหลออกมาเวลาระบายน้ำถ้าเป็นบ่อขนาดเล็ก นิยมที่สร้างท่อระบายน้ำออกไว้ตรงกลาง แต่ถ้าเป็นบ่อขนาดใหญ่จะสร้างไว้บริเวณด้านข้างเพื่อความสะดวกในการเปิดปิด ท่อระบายออกเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำ วิธีการสร้างบ่อลักษณะนี้ จะทำให้ประหยัดแรงงานและปริมาณน้ำมากกว่าการสร้างบ่อที่ไม่มีความลาดเอียง และไม่มีท่อระบายน้ำออก
นอกจากบ่อและภาชนะรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วอาจสร้างบ่อหรืออ่างในรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน เช่น ทำจากผ้าใบโดยมีโครงไม้โครงเหล็ก หรือปูแผ่นพลาสติกบนบ่อที่ยกขอบด้วยอิฐบล๊อก เป็นต้น
4)   กระชัง   การเลี้ยงปลาสวยงามใน กระชังไนล่อน ที่เกษตรกรนำมาเพาะเลี้ยง เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาทอง ปลาคาร์พ เป็นต้น
5)   ภาชนะที่เป็นขวด/โหลขนาดเล็ก   สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (2545 ก : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=69)   เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้เมื่ออายุประมาณ 1 1/2 -2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัวก่อนที่ปลาจะมีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดควรนำมาใช้เลี้ยงปลากัด ได้แก่ ขวด(สุรา) ชนิดแบนบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่

4.   การเพาะพันธุ์ปลาสวยงาม
ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์  (2549 : http://home.kku.ac.th/pracha/Breeding.htm)  การเพาะพันธุ์ปลาที่ดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบัน มีวิธีการดังนี้
1)  การเพาะพันธุ์ปลาแบบกึ่งควบคุมธรรมชาติ  เป็นวิธีที่ใช้เพาะปลาที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายๆ   ผู้เพาะไม่ต้องจัดเตรียมอะไรมากนัก   เพียงแต่นำปลามาปล่อยไว้แล้วให้อาหารเลี้ยงดูไปเรื่อยๆ   ปลาก็จะมีการแพร่พันธุ์ให้ตัวอ่อนออกมาเอง   เมื่อพบว่าลูกปลาโตพอสมควรก็รวบรวมออกจำหน่าย   โดยเฉพาะพวกที่ออกลูกเป็นตัว   เช่น  ปลาหางนกยูง   ปลาสอด   ปลาเซลฟิน
2)   การเพาะพันธุ์ปลาแบบควบคุมธรรมชาติ   หรือเลียนแบบธรรมชาติ  เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ปลา ที่มีการควบคุมใกล้ชิด   มีการจัดเตรียมสิ่งต่างๆให้แก่ปลา  จัดเตรียมขนาดบ่อเพาะตามความเหมาะสมของปลาแต่ละชนิด
3)   การเพาะพันธุ์ปลาโดยฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมน  เป็นวิธีการที่ใช้เพาะปลาที่ไม่สามารถวางไข่ในบ่อเลี้ยงหรือในบ่อเพาะได้   หรือเป็นปลาที่วางไข่ยาก   ถึงแม้ปลาพวกนี้จะมีการสร้างรังไข่และน้ำเชื้อได้ดี   แต่จะไม่เกิดพฤติกรรมการแพร่พันธุ์วางไข่   ทั้งนี้เนื่องจากปลา      ต้องการความจำเพาะจากสภาพแวดล้อม   เช่นต้องการการว่ายน้ำสวนน้ำหลากเป็นระยะทางไกลๆ   หรือเลือกพื้นที่วางไข่ที่เฉพาะเจาะจง   โดยปลาที่จะนำมาฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมน   จะต้องเป็นปลาที่มีไข่แก่และน้ำเชื้อดีแล้ว   การเพาะพันธุ์ปลาวิธีนี้ยังแบ่งเป็น  2  แบบ  ดังนี้
(1)  การฉีดฮอร์โมนเพื่อให้เกิดการแพร่พันธุ์วางไข่  เป็นวิธีการที่เมื่อฉีดฮอร์โมนให้แก่พ่อแม่พันธุ์ปลาเรียบร้อยแล้ว จะปล่อยปลาลงบ่อเพาะ หลังจากนั้นประมาณ  4 – 6  ชั่วโมง ปลาจะเกิดการผสมพันธุ์วางไข่กันเอง  เช่น ปลาตะเพียนทอง  ปลาทรงเครื่อง  ปลากาแดง   ปลาหมู  และปลาหางไหม้
(2)  การฉีดฮอร์โมนเพื่อให้เกิดการตกไข่  เป็นวิธีการที่เมื่อฉีดฮอร์โมนให้แก่พ่อแม่พันธุ์ปลาแล้ว  จะพักปลาไว้ในบ่อพัก   เพราะปลาพวกนี้จะไม่เกิดการผสมพันธุ์วางไข่เอง   ต้องรอจนปลาพร้อมที่จะตกไข่  จึงนำขึ้นมารีดไข่และน้ำเชื้อผสมกันในภาชนะ   ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้สำหรับการรีดไข่และน้ำเชื้อปลาผสมกันในปัจจุบัน  เรียกว่า วิธีดัดแปลงวิธีแห้ง (Modified  Dry Method)  คือเตรียมภาชนะขนาดเล็กผิวเรียบที่แห้ง  เช่น กะละมังอะลูมิเนียม หรือกะละมังพลาสติก      ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  12 – 15  เซนติเมตร  นำแม่ปลาที่พร้อมจะรีดไข่ได้มาเช็ดตัว  เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำจากตัวปลาหยดลงไปในกะละมังในขณะรีดไข่ จากนั้นรีดไข่จากท้องปลาลงในกะละมังจนหมดท้อง  นำปลาเพศผู้มาเช็ดตัวเช่นกันและรีดน้ำเชื้อลงบนไข่ที่รีดไว้แล้ว ใช้ขนไก่คลุกเคล้าไข่และน้ำเชื้อปลาให้เข้ากัน(ใช้เวลาประมาณ  30  วินาที)   เติมน้ำสะอาดลงไปให้พอท่วมไข่และใช้ขนไก่คลุกเคล้า  การผสมของไข่และเชื้อตัวผู้จะเกิดในขณะนี้  เพราะเมื่อไข่ได้รับน้ำช่อง Micropyle จะเปิด ในขณะที่เชื้อตัวผู้เมื่อได้สัมผัสน้ำเช่นกัน  ก็จะเกิดการว่ายน้ำอย่างรวดเร็ว และ จะเข้าไปทางช่องเปิดของไข่ได้  ซึ่งจะปล่อยให้เชื้อตัวผู้เข้าไปได้เพียงตัวเดียวแล้วจะปิด  สำหรับไข่ที่ไม่มีเชื้อตัวผู้เข้าผสมช่อง Micropyle ก็จะปิดภายในเวลา  30 – 60 วินาที  ดังนั้นเมื่อใช้ขนไก่คนไปมาประมาณ  1 นาที จะหยุดเพื่อปล่อยให้ไข่ตกตะกอนลง  รินน้ำทิ้งเพื่อไล่น้ำคาวที่มากับไข่และน้ำเชื้อทิ้งไป  จากนั้นจะเติมน้ำใหม่อีกให้เกือบเต็มกะละมัง ใช้ขนไก่คนประมาณ  1  นาที  ปล่อยตกตะกอนรินน้ำทิ้งเพื่อไล่น้ำคาว ทำเช่นนี้  2 – 3 ครั้งแล้วนำไข่ไปใส่บ่อฟักไข่   ในกรณีที่เป็นไข่ติด   เมื่อเติมน้ำพอท่วมไข่และใช้ขนไก่คลุกเคล้าแล้ว   ต้องนำไข่ไปใส่บ่อฟักไข่เลย   เพราะถ้าใส่น้ำมากเปลือกไข่จะเกิดสารเหนียว  ไข่จะจับตัวกันเองเป็นก้อนทำให้ไม่สามารถฟักตัว   การใส่น้ำน้อยจะทำให้ไข่ยังไม่เกิดสารเหนียว  เมื่อนำไปใส่บ่อฟักไข่จึงเกิดสารเหนียวแล้วติดกับวัสดุหรือเทียมที่เตรียม ไว้
4.1   การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์
ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์  (2549: http://home.kku.ac.th/pracha/Breeding.htm)   ได้กล่าวถึงดังนี้ การเตรียมบ่อเพาะ  จะต้องให้มีความพร้อมที่ปลาต้องการในการวางไข่ให้มากที่สุด   เช่น  ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาเสือสุมาตรา   ปลาเซเป้   ในธรรมชาติจะวางไข่บริเวณผิวน้ำ   ในบ่อเพาะจึงควรเตรียมรังลอยใกล้ผิวน้ำ ปลาดุก   ปลาแขยง   ปลากด   ในธรรมชาติจะวางไข่ตามบริเวณพื้นก้นบ่อ   ในบ่อเพาะจึงควรเตรียมรังอยู่ก้นบ่อ   นอกจากนั้นระดับน้ำในบ่อเพาะสำหรับการเพาะปลาสวยงาม   ไม่ควรเกินกว่า  30  เซนติเมตร
การเตรียมบ่อที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลาทองควรเป็นบ่อซีเมนต์ มีขนาด ประมาณ 1 ตารางเมตร ขัดล้างให้สะอาดด้วยแปรงและสบู่แล้วฉีดน้ำล้างหลายๆครั้ง จากนั้น เตรียมน้ำใหม่ที่ระดับประมาณ  20 – 25 เซนติเมตร นอกจากนั้นยังอาจใช้กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตรเป็นบ่อเพาะปลาทองก็ได้  ปลาทองเป็นปลาที่มีไข่ประเภทไข่ติด พฤติกรรมการวางไข่นั้นปลาเพศผู้จะว่าย น้ำไล่ปลาเพศเมียไปเรื่อยๆ   ปลาเพศเมียเมื่อพร้อมจะวางไข่จะว่ายน้ำเข้าหาพรรณไม้น้ำตามริมน้ำ   แล้วปล่อยไข่ครั้งละ  10 – 20  ฟอง   ปลาเพศผู้ที่ว่ายน้ำตามมาก็จะปล่อย น้ำเชื้อตาม   ไข่จะได้รับการผสมพร้อมกันนั้นก็เกิดสารเหนียวที่เปลือกไข่   ทำให้ไข่เกาะติดอยู่ตามราก  ลำต้น  และใบของพรรณไม้น้ำ   ดังนั้นการเตรียมรังในบ่อเพาะปลาทอง   ควรเป็นรังที่ช่วยให้ไข่ติดได้ง่ายและมากที่สุด   คือต้องมีลักษณะเป็นฝอยนิ่มและค่อนข้างยาว   รังที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่รังที่ทำจากเชือกฟาง   โดยนำเชือกฟางสีใดก็ได้มาผูกเป็นกระจุก(คล้ายกับพู่ที่เชียร์ลีดเดอร์ใช้)   มีความยาวประมาณ  20  เซนติเมตร   แล้วฉีกให้เป็นฝอยโดยพยายามให้เป็นเส้นฝอยขนาดเล็กให้มากที่สุด จากนั้นนำไป จุ่มในน้ำเดือดเพื่อให้เกิดความนุ่ม   แล้วทำกรอบไม้ (อาจใช้ท่อ เอสล่อน)ให้ลอยอยู่ผิวน้ำ  ขนาดเล็กกว่าบ่อเพาะเล็กน้อยเพื่อให้กรอบลอยอยู่ บนผิวน้ำในบ่อได้ดีนำรังมาผูกในกรอบไม้เพื่อให้รังลอยตัว  และรังจะกระจาย ตัวกันหากไม่ทำกรอบผูกรังรังจะถูกแรงลมที่เกิดจากเครื่องแอร์ปั๊มทำให้รัง ลอยไปรวมเป็นกระจุกอยู่ริมบ่อ   ปลาจะวางไข่ที่รังได้ยาก  การทำให้รังกระจายตัวกัน ช่วยให้ปลาสามารถวางไข่โดยกระจายไข่ตามรังที่จัด ไว้ทุกรังได้เป็นอย่างดี

4.2   การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน (2549 : http://coursewares.mju.ac.th/section2/fa301/ Chapter1.htm)  ได้กล่าวถึง ไว้ดังนี้  เพื่อให้ได้พันธุ์สัตว์น้ำที่มีคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น การคงอยู่ของสายพันธุ์ที่ดีตลอดมีความต้องการ โตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมและต้านทานโรค ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมเฉพาะการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ จึงมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าจะยุ่งยากและต้องใช้เวลา
แนวทางในการคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำ   เพื่อให้ได้พันธุ์สัตว์น้ำที่มีคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น การคงอยู่ของสายพันธุ์ที่ดีตลาดมีความต้องการ โตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมและต้านทานโรค ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมเฉพาะการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ จึงมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าจะยุ่งยากและต้องใช้เวลา
1)  การจัดการพ่อ-แม่พันธุ์ (Broodstock Management) ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า จากการปล่อยและละเลยในเรื่องพันธุกรรม ทำให้ปลาหลายชนิดเริ่มมีการเจริญเติบโตลดลง แม้จะไม่มีการทดลองยืนยันในเรื่องนี้ แต่ข้อมูลจากการสังเกตของผู้เลี้ยงปลานับร้อย ๆ ราย ก็ทำให้เชื่อได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นความจริง จากความจริงที่ว่าลักษณะปรากฏ (Phenotype) เป็นผลมาจากลักษณะทางพันธุกรรม (Genotype) และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสภาพการเลี้ยงประกอบกัน เมื่อสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงยังเป็นเช่นเดิม แต่ลักษณะปรากฏ คือการเจริญเติบโตช้าลง ก็ทำให้พออนุมานได้ว่าสาเหตุน่าจะเนื่องมาจากลักษณะทางพันธุกรรมนั่นเอง คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการที่ลักษณะทางพันธุกรรมด้อยลงนี้มีสาเหตุมาจากการผสม เลือดชิด (Inbreeding) ในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จึงมีข้อควรปฏิบัติคือ
(1)   ควรคัดปลาที่โตได้ขนาดตลาดรุ่นแรกสุดในบ่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์
(2)   ควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์อายุต่างกันแยกกัน
(3)   ในการเพาะพันธ์แต่ละครั้งควรใช้พ่อแม่พันธุ์หลายคู่ หากการเพาะแต่ละครั้งใช้ปลาเพศเมียน้อยตัว สามารถเพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์ได้โดยใช้น้ำเชื้อจากปลาตัวผู้หลายตัวผสมกับ ไข่จากปลาตัวเมีย 1 ตัว เพื่อให้ไข่และน้ำเชื้อผสมกันได้หลาย ๆ คู่ อย่างน้อย 30 คู่ หรือใช้ตัวผู้ 3 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว 30 ชุด หรือตัวผู้ 3 ตัว ต่อตัวเมีย 2 ตัว 15 ชุด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการผสมเลือดชิดลงได้ นอกจากนั้นควรคัดปลาที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ในปีต่อไปจากการผสมพ่อแม่หลาย ๆ คู่
(4)   เมื่อสังเกตว่าลูกปลาที่ผลิตเริ่มโตช้าควรหาพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งอื่น ไม่ควรใช้พ่อแม่พันธุ์ซ้ำ ๆ กันหลายครั้งในรอบปี ซึ่งโตดีกว่ามาผสมจะทำให้อัตราส่วนของยีนดีเพิ่มขึ้นในประชากร
2)  หลีกเลี่ยงในการผสมเลือดชิด เมื่อมีการผสมพันธุ์กันระหว่างสายพันธุ์ที่ใกล้ชิด ความสมบูรณ์และอัตราการรอดของลูกหลายรุ่นต่อไปก็จะลดลงเช่นเดียวกับคนเรา ได้มีการประมาณไว้ว่าหากมีการสืบพันธุ์ระหว่างพี่-น้อง ท้องเดียวกันแล้ว ความสมบูรณ์และอัตราการรอดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดถึง 20 % และถ้ามีการผสมพันธุ์ระหว่างเครือญาติใกล้กันแล้วก็จะมีผลเกิดขึ้นในทำนอง เดียวกัน แต่ช้ากว่าหรือประมาณ 4 ชั้นอายุ (Generation) ความเสื่อมของสายพันธุ์ที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต การผสมพันธุ์ การต่อต้านเชื้อโรคจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อพ่อแม่พันธุ์ ได้จำนวนลดลงในขีดจำกัดจำนวนหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะมีการผสมพันธุ์ระหว่างวงศ์ญาติกันก็มีมากน้อยตามโอกาส แม้ในฟาร์มเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ถ้าหากมีพ่อแม่พันธุ์ถูกใช้แล้วใช้อีกเป็นเวลาหลายปี พวกลูกหลานเกิดมาก็ย่อมมีโอกาสผสมพันธุ์กับรุ่นพ่อแม่พันธุ์ด้วย วิธีการหลีกเลี่ยงจัดการเช่นเดียวกับพ่อแม่พันธุ์
3)  การคัดเลือกสายพันธุ์  เป็นวิธีการที่นิยมแต่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ลักษณะที่ต้องการให้ ชัดเจน นิยมในประชากรที่มีค่าความแปรปรวนสูง จะให้ผลตอบสนองต่อการคัดพันธุ์ได้ดี วิธีการคัดพันธุ์ ที่นิยม มี 3 วิธี ได้แก่
(1)  Mass Selection หรือ Individual Selection การคัดพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีนี้จะพิจารณาจากลักษณะปรากฏของปลาที่จะคัดเพียง อย่างเดียว จากนั้นหากนำปลาที่คัดได้มาผสมพันธุ์กันโดยมีการวางแผนการผสมจะเรียกการคัด พันธุ์นี้ว่า Individual Selection หากนำพ่อแม่พันธุ์เหล่านั้นมาปล่อยรวมให้ผสมพันธุ์กันเอง เรียกว่า Mass Selection
(2)   Family Selection คัดโดยทำการผสมปลาเป็นคู่ ๆ จากนั้นนำลูกจากแต่ละคู่ผสมมาแยกเลี้ยงกัน เมื่อจะคัดก็พิจารณาจากค่าเฉลี่ยของลูกแต่ละครอบครัว เมื่อตัดสินใจเลือกครอบครัวใดก็จะเก็บไว้ทั้งครอบครัวเดียว ดังนั้นจำเป็นต้องเลี้ยงปลาจำนวนหลาย ๆ ครอบครัว แยกกันเป็นวิธีการที่ต้องการ แรงงานและบ่อจำนวนมาก
(3)   Within Family Selection ทำการผสมปลาเป็นคู่ ๆ เช่นเดียวกัน แต่จะทำการ คัดเลือกโดยคัดปลาที่โตดีที่สุดจากแต่ละครอบครัวไว้ ตัวอย่าง
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปลาสวยงาม ต่างๆ ได้มีการกล่าวถึงไว้หลายวิธี ซึ่งแล้วแต่ ลักษณะของการผสมพันธุ์และการพัฒนาของไข่  รวมถึงการสืบพันธุ์ของปลาสวยงามแต่ละประเภทและชนิดพันธุ์ เช่น
ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์  (2549 : http://home.kku.ac.th/pracha/Breeding.htm)  ได้เขียนไว้ว่า  ปลาที่จะนำมาเพาะจะต้องเป็นปลาที่มีไข่แก่แล้วเท่านั้น   คือมีรังไข่อยู่ในขั้นพักตัว (Resting  Stage)   มิใช่ว่าปลาที่มีการตั้งท้องทุกตัว(คือเห็นส่วนท้องขยายออก)จะนำมาใช้เพาะ ได้ทั้งหมด   ผู้เพาะจะต้องรู้จักวิธีการคัดปลาที่มีไข่แก่พร้อมที่จะผสมพันธุ์   ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยดูจากติ่งเพศ   ปลาที่มีไข่แก่จะมีการขยายตัวของติ่งเพศ   และส่วนท้องขยายนิ่ม   ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับประสบการณ์   ความชำนาญ   และความช่างสังเกตของผู้เพาะพอสมควร
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (2545 ก :
http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=69) ได้กล่าวถึง การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปลากัด ที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไป โดยปลาจะให้ไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในฤดูผสมพันธุ์ จะสังเกตเห็นความสมบูรณ์เพศของปลาได้ชัดเจน ในการคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์ มีหลักที่ควรปฏิบัติดังนี้
ปลาเพศผู้ คัดปลาที่แข็งแรง ปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวย ชอบสร้างรังซึ่งเรียกว่า “หวอด” โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปากและลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่าปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์
ปลาเพศเมีย คัดเลือกปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่งและบริเวณใต้ท้องจะมีตุ่มสีขาวใกล้กับรูก้น เห็นได้ชัดเจน ซึ่งตุ่มสีขาวนี้เรียกกันว่า “ไข่นำ”
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ  (2545 ข :
http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=71 ) กล่าวถึงไว้ดังนี้  การคัดเลือกปลาเพศผู้และเพศเมียเพื่อทำการผสม ของปลาหางนกยูง ควรเลือกปลาที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป มีลักษณะลำตัวมีขนาดใหญ่ หนาสมส่วน ไม่คดงอ โคนหางใหญ่ แข็งแรงครีบสมบูรณ์ ครีบหางใหญ่ พริ้วหนา แข็งแรงสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด รูปร่างได้สัดส่วน แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว มีสีและลวดลายสวยงาม เพศผู้จะมีลักษณะต่างจากเพศเมียตรงที่อวัยวะในการสืบพันธุ์เรียกว่า gonopodium ซึ่งดัดแปลงมาจากครีบก้น ปลาเพศผู้และเพศเมีย ควรมีลักษณะสีและลวดลายที่เหมือนกันหรือคล้ายกันมากที่สุด เพื่อให้ได้ลูกปลาที่ลักษณะไม่แปรปรวนมากในการผสมพันธุ์ หากจำเป็นต้องเก็บลูกปลาที่เพาะไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในครั้งต่อไป ควรหาพ่อแม่ปลาจากแหล่งอื่นมาผสมบ้าง เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด (Inbreeding) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลูกปลารุ่นต่อๆไปมีความอ่อนแอและมีอัตราการรอดต่ำ
กรมประมง   (ม.ป.ป. : http://www.fisheries.go.th/Dof_thai/knownledge/ aquarium/AQ_POM/AQ_POM_index.htm) ได้แนะนำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญประการแรก ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
ไม่ควรซื้อพ่อแม่ปลาจากร้านปลาสวยงามทั่ว ๆ ไป เนื่องจากปลาที่ซื้ออาจจะเป็นปลาแก่ที่ไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้แล้ว หรือมีประสิทธิภาพในการเพาะพันธุ์ต่ำ ซึ่งโดยมากจะเป็นปลาที่ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์คัดออกแล้วขายให้แก่ ร้านปลาสวยงามทั่ว ๆ ไป ควรซื้อปลาจากฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์ที่ไว้ใจได้มีการคัดเลือกสาย พันธุ์แล้ว
ปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่ไม่ได้ผ่านการเร่งหรือย้อมสี เพราะฮอร์โมนที่ใช้ในการย้อมสีอาจจะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของปลาได้
ไม่ควรซื้อปลาขนาดใหญ่ มาเลี้ยงเพราะไม่สามารถทราบอายุที่แน่นอน และสุขภาพปลาได้ ควรซื้อปลาที่เรียกว่าขนาดเหรียญบาท ซึ่งมีอายุประมาณ 1-2 เดือน มาเลี้ยงเพื่อทราบถึงชีววิทยาปลา แต่ไม่ควรซื้อปลาจากคอกเดียวกันหรือเลือกชนิดเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการ เพาะพันธุ์ต่ำ เปอร์เซ็นต์การรอดต่ำ ได้ลูกปลาน้อย และลูกปลาที่ได้อาจจะพิการหรือไม่สมบูรณ์ ควรเลือกซื้อลูกปลาที่ได้จากพ่อแม่ที่มีสีสันสดใสและลวดลายชัดเจนไม่เลอะ เลือน

4.3   ขั้นตอนในการเพาะพันธุ์
ขั้นตอนในการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามต่างๆ มีหลายวิธี แล้วแต่ชนิดพันธุ์และประเภทของปลาสวยงาม ตลอดถึงการนำเทคนิควิธีที่ใช้ ของผู้เพาะพันธุ์ มาใช้   เช่น
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ   (2545 ข : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=71)  ได้กล่าวถึง  ขั้นตอนในการเพาะพันธุ์ ปลาหางนกยูง มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1  เตรียมบ่อซีเมนต์ ขนาด 1- 4 ตารางเมตร ระดับน้ำลึก 30 –50 เซนติเมตร ใส่พุ่มเชือกฟางตะกร้าหรือฝาชีเพื่อให้ลูกปลาใช้เป็นที่ปลาหลบซ่อน
ขั้นตอนที่ 2   คัดพ่อแม่ปลาสายพันธุ์เดียวกันที่ลักษณะดีสีสวยอายุประมาณ 4 –6 เดือน โดยคัดปลาเพศผู้ ลำตัวโต แข็งแรง ครีบหลัง ครีบหางใหญ่และแผ่กว้างสีเข้มสดใส สวยงาม ส่วนปลาเพศเมียคัดเลือกสายพันธุ์เดียวกันกับปลาเพศผู้ ลำตัวโต แข็งแรง ปราดเปรียว ครีบหางเข้มสดใส ปล่อยรวมกันในอัตรา 120 -180 ตัวต่อลูกบาศน์เมตร ในสัดส่วนเพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1:3 หรือ 1:4 ระหว่างการเพาะพันธุ์ให้ไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้า และให้อาหารสำเร็จรูปในตอนเย็น ปลาเพศเมียที่ได้รับการผสมแล้วจะเห็นเป็นจุดสีดำบริเวณท้อง
ขั้นตอนที่ 3   หลังจากแม่ปลาได้รับการผสมพันธุ์ประมาณ 26 –28 วัน จะมีลูกปลาวัยอ่อนเกิดขึ้นและหลบซ่อนอยู่ตามวัสดุที่มาใส่ไว้ในบ่อให้รวบรวม ลูกปลาออกทุกวันสะสมไว้ในบ่ออนุบาล ประมาณ 4-5 วัน/ บ่อ เพื่อให้ลูกปลามีขนาดใกล้เคียงกัน โดยปล่อยลูกปลาในอัตราความหนาแน่น 140-300 ตัวต่อลูกบาศน์เมตร ในระยะแรกให้ไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้าและเย็นทุกวันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้อาหารสำเร็จรูป จนกระทั่งลูกปลามีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มแยกเพศได้ โดยปลาเพศเมีย สังเกตจุดสีดำบริเวณรูเปิดช่องท้อง ส่วนปลาเพศผู้ เมื่อมองจากด้านบนมีรูปร่างเรียวยาวกว่าเพศเมีย
ขั้นตอนที่ 4    คัดขนาดและแยกเพศปลา นำไปแยกเลี้ยงในบ่ออัตรา 200-300 ตัวต่อลูกบาศน์เมตร ให้กินไรแดงเป็นอาหารในตอนเช้าส่วนตอนกลางวันและตอนเย็นให้กินอาหารสำเร็จ รูป เลี้ยงเป็นระยะเวลา 3เดือน (ปลามีอายุประมาณ 4 เดือน)
ขั้นตอนที่ 5    ปลาหางนกยูงอายุประมาณ 4 เดือน จะถูกคัดขนาดและคัดเลือกปลาที่แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อนำไปเลี้ยงไว้ในบ่อพักปลา เพื่อเตรียมส่งจำหน่ายต่อไป
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูง เนื่องจากปลาหางนกยูงจะเจริญถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อปลามีอายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น เมื่อลูกปลาพอที่จะแยกเพศได้ (อายุประมาณ1-1.5 เดือน)ควรเลี้ยงแยกเพศไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (2545 ก : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=69)  กล่าวถึงการเพาะพันธุ์ ปลากัด ไว้ดังนี้  นำขวดปลากัดเพศผู้และเพศเมียที่มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่มาวางติดกัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า “เทียบคู่” ซึ่งควรจะเป็นบริเวณที่ปราศจากสิ่งรบกวน จะทำให้ปลาตกใจ ใช้เวลาประมาณ 3-10 วันจากนั้นนำปลาเพศผู้และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว กาละมัง ตู้กระจกหรืออ่างดิน แล้วใส่พันธุ์ไม้น้ำที่แช่ ด่างทับทิม ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระจอก จอก ใบผักตบชวา เป็นต้นเมื่อปลาสามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพในภาชนะ (ประมาณ 1-2 วัน) ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับพันธุ์ไม้น้ำหลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้จะพองตัวกางครีบ ไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอดขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้จะรัดตัวเมียบริเวณช่องอวัยวะเพศ  จากนั้นไข่ก็จะหลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้จะตามลงไปใช้ปากดูดไข่อมไว้ว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟอง อากาศจนกว่าจะหมดเมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่เพียง ลำพัง และจะไล่ต้อนปลาเพสเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะหลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออกจาก ภาชนะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออกไข่ปลากัดจะฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง
เฉลิมวิไล ชื่นศรี (2539 : http://www.nicaonline.com/articles1/site/view article.asp?idarticle=120) ได้กล่าวถึง  ปลาหางไหม้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับปลาตะเพียนขาว คือตอนต้นฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคม ปลาเพศเมียท้องเริ่มอูมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธุ์ ปลาเพศเมียเวลาตั้งท้องมีไข่จะมีนิสัยดุร้าย ว่ายน้ำเข้าชนปลาที่เข้าใกล้ ต่อเมื่อไข่แก่เต็มที่ปลาเพศผู้จึงสามารถว่ายเคล้าเคลียจับเป็นคู่ๆได้ ปลาที่ว่ายเคล้าเคลียกันจะกระตุ้นเร่งเร้าการวางไข่โดยการใช้ปากชนบริเวณ ท้องและบริเวณช่องออกไข่ซึ่งกันและกัน ในเดือนพฤษภาคมปลาเพศเมียท้องอูมเป่งเห็นได้ชัด รูก้นสีแดงเรื่อๆ ช่องออกไข่มีสีเข้มเป็นติ่งกลมใหญ่ ขนาดแม่พันธุ์มีน้ำหนักประมาณ 155 กรัมจะให้ไข่ 6,000-7,000 ฟอง ปลาเพศผู้ที่เคล้าเคลียจะมีขนาดหนักประมาณ 126 กรัม
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  (2546 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=103)  ทรงนิพนธ์ ไว้ ดังนี้  ปลาเทวดาจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ ประมาณ 8-10 เดือน การจับคู่เพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่เริ่มขึ้น โดยตัวผู้จะว่ายเคียงคู่กับตัวเมีย ในขณะเดียวกันจะพยายามกัดตัวอื่น ๆ ให้ห่างจากคู่ของตนและสร้างอาณาเขตของตัวเองไม่ให้ตัวอื่นเข้าใกล้ อาจจะเป็นบริเวณมุมตู้มุมใดมุมหนึ่ง โดยตัวเมียจะอยู่ด้านในติดกับมุมตู้ ตัวผู้มักจะว่ายน้ำอยู่ด้านนอก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะทำความสะอาดบริเวณที่วางไข่ โดยการอมน้ำแล้วพ่นไปในบริเวณพื้นตู้ และเก็บสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น เศษใบไม้ หรือตะกอนผงต่าง ๆ ออกจากบริเวณนั้น ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงว่าตัวเมียพร้อมที่จะวางไข่ ทำการแยกปลาทั้งคู่ออกมาจากตู้ที่เลี้ยง ใส่ในตู้เตรียมไว้สำหรับเพาะ ซึ่งโดยมากแล้วนิยมใช้ตู้ขนาดความยาว 1 ฟุตขึ้นไป ใส่น้ำที่ปราศจากคลอรีนและมีการเพิ่มปริมาณออกซิเจนโดยการใช้ปั๊มลม
ตามธรรมชาติแล้วปลาตัวเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุต่าง ๆ ในน้ำ เช่น ก้อนหิน ตอไม้ พรรณไม้น้ำชนิดต่าง ๆ ในน้ำ เช่น ก้อนหิน ตอไม้ พรรณไม้น้ำชนิดต่าง ๆ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้กระจกแล้ว นักเพาะปลามักนิยมใช้กระจกหรือพลาสติกแผ่นเรียบวางเอียงกับพื้นตู้ประมาณ 30-60 องศา แม่ปลาจะวางไข่ติดกับกระจกแล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ทันที จะผลัดเปลี่ยนกันเช่นนี้จนแม่ปลาวางไข่หมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ในแต่ละครั้งของการวางไข่ แม่ปลาจะวางไข่ประมาณ 300-2,000 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ปลา พ่อแม่ปลาจะเฝ้าไข่และคอยพัดโบกน้ำโดยใช้ครีบอก เพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

4.4   การฟักไข่
กาญจนรี พงษ์ฉวี (2545 : http://www.nicaonline.com/articles/site/ view_article.asp?idarticle=70)    อธิบาย เกี่ยวกับการฟักไข่ปลาทอง มีดังนี้  นำรังเทียมที่มีไข่เกาะติดไปฟักในถังฟักไข่ ซึ่งอาจใช้บ่อซีเมนต์ ถังไฟเบอร์ โอ่ง หรือกะละมังพลาสติกก็ได้ ถ้าใช้ถังไฟเบอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ใส่น้ำลึก 50-60 เซนติเมตร จะใช้ฟักไข่ได้ประมาณ 100,000 ฟอง ให้อากาศตลอดเวลา ไข่ปลาทองจะฟักออกมาเป็นตัวภายใน 2-4 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำ ลูกปลาแรกฟักมีขนาดเล็กมาก ตัวใส เกาะติดกับรังไข่หลังจากฟักเป็นตัวแล้วประมาณ 2-3 วัน ลูกปลาจึงจะว่ายออกจากรังไข่ และว่ายน้ำเป็นอิสระ ลักษณะตัวมีสีเข้มขึ้น จะนำรังเทียมออกจากบ่อในระยะนี้แล้วอนุบาลในบ่อเดิมต่อไป หรืออาจย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อใหม่ก็ได้
เฉลิมวิไล ชื่นศรี (2539 : http://www.nicaonline.com/articles1/site/view article.asp?idarticle=120)  กล่าวว่าไข่ปลาหางไหม้ที่รีดออกมามีสีน้ำตาลปนแดง หลังจากไข่ผสมน้ำเชื้อแล้วประมาณ 5-6 นาทีไข่จะเริ่มพองน้ำจนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลใสมองเห็นถุงอาหารมีช่องระหว่างเปลือกไข่กับถุงอาหารไข่ปลาหาง ไหม้จะจมลงสู่ก้นกระชัง ฟักตัวในอุณหภูมิน้ำเฉลี่ย 27.5 องศาเซลเซียสในเวลา 13 ชั่วโมงหลังจากการผสม ถุงอาหารยุบในเวลา 3 วัน ลูกปลาเริ่มกินอาหารในวันที่4 อาหารเป็นพวกแพลงค์ตอนสัตว์และพืช ไรแดงและให้อาหารเม็ด ลูกปลาอายุ 50 วัน จะมีลักษณะเหมือนพ่อแม่ปลา แต่ขลิบต่างบนครีบยังไม่เด่น ชัด
4.5   การอนุบาลลูก
การอนุบาลลูกปลาเป็นขั้นตอนที่ต้องการความรู้ความชำนาญ  ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง  การอนุบาลลูกปลาทะเลจะค่อนข้างยาก  เนื่องจากลูกปลาทะเลมักจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วนปลาน้ำจืดนั้นยังจัดว่าดำเนินการได้ง่ายเพราะลูกปลามีขนาดโตพอควร และหัดให้กินอาหารสมทบได้ง่าย ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์ (2549 : http://home.kku.ac.th/pracha/ Breeding.htm)
โดยปกติแล้วลูกปลาทุกชนิดที่พึ่งฟักตัวออกจากไข่   จะมีถุงไข่แดง (Yolk  Sac) หรือถุงอาหารซึ่งจะสังเกตได้ว่าที่หน้าท้องของลูกปลาจะป่องนูนออกมา   ลูกปลาจะอาศัยอาหารจากถุงไข่แดงนี้เลี้ยงตัวอยู่ได้  1 – 2  วันแล้วแต่ชนิดปลา   ในระยะนี้ลูกปลาที่เกิดจากพวกไข่ติดมักจะเกาะอยู่ใกล้ๆบริเวณที่ฟักตัว   ส่วนลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ครึ่งลอยครึ่งจม   ก็จะว่ายน้ำในลักษณะพุ่งตัวขึ้นลงในแนวดิ่งตลอดเวลา   เมื่อลูกปลาใช้อาหารจากถุงไข่แดงหมดแล้ว   ลูกปลาทั้งหลายก็จะว่ายน้ำในแนวระดับเพื่อหาอาหาร   ผู้เลี้ยงก็จะต้องจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมให้แก่ลูกปลา   หากลูกปลาไม่สามารถกินอาหารที่ให้   หรือได้รับอาหารไม่เพียงพอในช่วงแรกนี้   ลูกปลาจะแคระแกรนเติบโตช้า   และจะเริ่มทำอันตรายกันเอง   ทำให้มีอัตรารอดน้อย   จะสังเกตุได้ว่าลูกปลาในครอกเดียวกันจะมีขนาดแตกต่างกันมาก   แต่ถ้าลูกปลากินอาหารที่ให้ได้ดีและมีอาหารเพียงพอ   ลูกปลาจะเติบโตรวดเร็วมีขนาดสม่ำเสมอกัน   และมีอัตราการรอดสูง
1)   การอนุบาลลูกปลากินเนื้อ   ปลาที่จัดเป็นประเภทปลากินเนื้อ   เช่น  ปลากัด   ปลาเทวดา   ปลาปอมปาดัวร์   ปลาออสการ์   และปลามังกร   ลูกปลาที่เกิดมาก็มักจะต้องการอาหารที่มีชีวิตในช่วงระยะแรกๆ   ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องเตรียมเพาะไรแดง   หรืออาร์ทีเมีย   ไว้เป็นอาหารลูกปลา   โดยจะต้องเลี้ยงด้วยอาหารมีชีวิตอยู่ประมาณ  10 – 20  วัน   แล้วแต่ชนิดปลา   ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้นและหากินอาหารได้ดี   จากนั้นจึงเริ่มหัดให้กินอาหารสมทบ   ลูกปลาก็จะเติบโตรวดเร็วและมีอัตราการรอดดี
2)   การอนุบาลลูกปลากินพืช  กลุ่มปลากินพืชและกินทุกอย่าง   เช่น   ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาหางนกยูง   ปลาสอด   ปลาซิว   ปลาสร้อย   และปลาตะเพียนทอง   เป็นกลุ่มปลาที่อนุบาลลูกปลาได้ง่าย   เมื่อลูกปลาใช้อาหารจากถุงอาหารหมดแล้ว   ลูกปลาสามารถกินอาหารสมทบได้ทันที   สมัยก่อนนิยมใช้ไข่ต้มสุกแล้วเอาเฉพาะไข่แดงมาขยี้ผ่านผ้าขาวบาง   ก็นำไปให้ลูกปลากินได้เลย   แต่ปัจจุบันนิยมใช้อาหารผงซึ่งเป็นอาหารอนุบาลลูกปลาดุก   เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน   และลูกปลากินได้ดี   นำไปโปรยบนผิวน้ำอาหารจะค่อยๆดูดน้ำแล้วจมตัวลง   ลูกปลากินได้เป็นอย่างดี   ให้อาหารผงเป็นเวลา  10 – 15  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น  จึงหัดให้กินอาหารเม็ดต่อไป   เพราะการใช้อาหารเม็ดเลี้ยงปลาจะลดปัญหาเรื่องน้ำเสียได้ดีกว่าการใช้อาหาร ผง
กรมประมง  (ม.ป.ป. : http://www.fisheries.go.th/Dof_thai/knownledge/ aquarium/AQ_POM/AQ_POM_index.htm  )  กล่าวถึง  อนุบาลลูกปลาปอมปาร์ดัวร์ ไว้ดังนี้  หลังจากแม่ปลาวางไข่ 3 วัน ลูกปลาจะฟักเป็นตัวแต่จะยังอยู่ในบริเวณเปลือกไข่ จะเห็นส่วนหางเต้นไปมา ส่วนหัวจะเป็นจุดสีดำ ในระยะนี้ลูกปลาจะไม่กินอาหารเพาะมีถุงไข่ (Yolk sac) อยู่ในบริเวณท้องหลังจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 6 หลังจากเมื่อปลาวางไข่ ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำมาเกาะเพื่อกินเมือกบริเวณลำตัวพ่อแม่ปลา สีของลำตัวของพ่อแม่ปลาจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนเกือบดำ พ่อแม่ปลาจะพยายามอมลูกปลาแล้วพ่นไปที่โดม ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญมาก ถ้าพ่อแม่ปลาตกใจจะกินลูกปลาเข้าไปเลย และควรระมัดระวังการให้อาหารพ่อแม่ปลา อย่าให้อาหารมากเพราะจะทำให้น้ำเสียเนื่องจากจะไม่มีการเปลี่ยนน้ำในระยะนี้
ในวันที่ 7 มีการถ่ายน้ำพร้อมกับดูดตะกอนออก ควรระมัดระวังลูกปลาจะติดไปในระหว่างดูดตะกอน ให้เหลือน้ำอยู่ประมาณครึ่งตู้เท่านั้น
ในวันที่ 8 ค่อย ๆ ดูดตะกอนและเริ่มเติมน้ำโดยใช้สายยางเล็ก ๆ หยดน้ำลงไปคล้ายกับการให้น้ำเกลือเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด โดยถ้าถ่ายน้ำตอนเช้าจะต้องเติมน้ำโดยใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง จึงจะได้ระดับครึ่งตู้เท่ากับเมื่อวันที่ 7 (การเปลี่ยนน้ำควรเติมน้ำเท่ากับปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิม) และเปลี่ยน้ำเช่นนี้ต่อไปทุกวัน
ในวันที่ 13 ลูกปลาเริ่มว่ายน้ำไปมาอย่างอิสระบ้างแต่ยังกินเมือกของพ่อแม่ปลาเป็นอาหาร อยู่ สามารถให้อาหารเสริมได้ คือ อาร์ทีเมียที่เพาะใหม่ ๆ หรือลูกของไรแดงการแยกลูกไรแดงออกจากไรแดงตัวโต สามาถทำได้โดยใช้กระชอนตาถี่ที่ลูกไรสามารถลอดออกมาได้ไปช้อนไรแดงแล้วแกว่ง ในกะละมังที่มีน้ำอยู่ ลูกไรแดงจะหลุดออกมาอยู่ในกะละมัง แต่ไรแดงตัวโตไม่สามารถคลอดออกมาได้ จากนั้นจึงใช้กระชอนตาถี่ที่เล็กกว่าขนาดลูกไรไปช้อนมาอีกทีก็จะได้แต่เฉพาะ ลูกไรแดงขึ้นมา การให้ลูกไรแดงควรระมัดระวังไรชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายไรแดงแต่มีเปลือกแข็ง คล้ายแมลง เพราะถ้าลูกปลากินเข้าไปจะทำให้ตายได้
ในวันที่ 17 สามารถแยกแม่ปลาออกจากลูกปลาได้ในระยะนี้ และลูกปลาขนาดนี้ซึ่งเรียกว่าระยะแกะออกจากแม่หรือขนาดเม็ดแตงโม ขายได้ในราคาตัวละ 7-8 บาท หรือจะเลี้ยงต่อไปจนอายุ 1 เดือน จนถึงขนาดเหรียญบาทซึ่งมีราคาตัวละ 20-30 บาท ทั้งนี้แล้วแต่ความต้องการของตลาด ในระยะนี้ควรหัดให้ลูกปลากินไข่กุ้งเพื่อเป็นการเร่งสี ซึ่งจะทำให้ปลามีสีแดงขึ้นและขายได้ง่ายขึ้น

4.6   การแยกไข่มาอนุบาล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  (2546 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=103 ) ทรงนิพนธ์ แนะนำไว้ดังนี้  การแยกไข่ปลาเทวดา กระทำโดยหลังจากแม่ปลาวางไข่และไข่ได้รับการผสมแล้ว นำแผ่นกระจกที่มีไข่ติดอยู่มาใส่ในตู้อนุบาลที่เตรียมไว้ และมีการเพิ่มอากาศโดยใช้ปั๊มลม (air pump)เบาๆตลอดเวลา ความลึกของน้ำไม่เกิน 10 เซนติเมตร ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง ลักษณะของลูกปลาในระยะนี้จะเห็นเป็นเส้นด้ายเคลื่อนไหวไปมาเป็นแต่ยังแต่ยัง ไม่เคลื่อนที่จะเกาะติดอยู่บริเวณแผ่นกระจกนั่นเอง ลูกปลาจะมีถุงไข่ (yolk sac)ติดอยู่ในบริเวณด้านท้อง ในระยะนี้ลูกปลาจะยังไม่ต้องกินอาหารถุงไข่นี้จะยุบภายใน 2-3 วัน จากนั้นลูกปลาจะเริ่มเคลื่อนโดยมักจะลอยตัวขึ้นมาในบริเวณผิวน้ำและรวมกลุ่ม กันอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อลูกปลามีอายุได้ 5 วันขึ้นไป จะให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดผสมกับน้ำเล็กน้อยหยดไปในบริเวณกลุ่ม ของลูกปลา ควรระวังในการให้อาหารโดยอย่าให้มากจนลูกปลากินไม่หมดจะทำให้น้ำเสียง่าย และเป็นบ่อเกิดของโรค ไม่ควรให้ไข่แดงเกิน 7 วัน เพราะจะทำให้ปลาท้องอืดตายได้ นักเพาะปลาเทวดาบางคนจึงข้ามขั้นตอนการให้ไข่แดงไปเป็นการให้ลูกไรแดง โดยการใช้กระชอนตาถี่ที่สามารถช้อนไรแดงตัวใหญ่มากออกไปและเหลือไรแดงตัว เล็กที่สามารถเป็นอาหารของลูกปลาได้ แล้วจึงนำมาให้ลูกปลาเป็นอาหาร ในระยะนี้ควรระวังเรื่องความสะอาดของน้ำควรหมั่นเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือในช่วงเช้าและเย็นควรให้อาหารอย่างสม่ำเสมอวันละ 4-5 ครั้ง จะทำให้ปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อลูกปลาอายุได้ 10 วันขึ้นไปจะสามารถว่ายน้ำได้อย่างอิสระและคล่องตัวแต่ยังจะรวมฝูงกันอยู่ใน ระยะนี้ลูกปลาจะมีรูปร่างกลมคล้ายรูปไข่ กระโดงหลัง ครีบอก และครีบก้นยังไม่ยาวออกมา ลูกปลานี้จะเจริญเติบโตเหมือนพ่อแม่เมื่ออายุประมาณ 45 วัน

4.7   การให้พ่อแม่อนุบาล
ปลาเทวดาจัดเป็นปลาประเภทที่ดูแลและเลี้ยงลูกทั้งตัวผู้และตัวเมียการอนุบาล อีกวิธีหนึ่งก็คือการปล่อยให้พ่อแม่ปลาอนุบาลเอง พ่อแม่ปลาจะอมลูกปลาที่ตกอยู่ในบริเวณพื้นพ่นขึ้นไว้ในบริเวณแผ่นกระจก เพื่อให้ลูกปลาได้รับออกซิเจนและน้ำสะอาด นอกจากนี้พ่อแม่ปลายังพยายามย้ายลูกปลาทั้งหมดเพื่อหลบเลี่ยงการถูกรบกวน ดังนั้นตู้อนุบาลปลานี้ไม่ควรจะมีกรวด ทราย รองพื้นตู้เพราะจะทำให้พ่อแม่ปลาเก็บลูกปลาจากพื้นได้ยาก อาหารระยะแรกของลูกปลาเหล่านี้ก็คือเมือกของพ่อแม่ปลา
การอนุบาลด้วยวิธีนี้มีผลดีคือ จะทำให้ลูกปลาแข็งแรง เพราะมีพ่อแม่ปลาคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การกัดเปลือกไข่ให้ฉีกขาดเพื่อให้ลูกปลาฟักออก การเคลื่อนย้ายลูกปลาเพื่อให้ได้รับออกซิเจนหรือน้ำสะอาด
4.8   อาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง
ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์ (2549 : http://home.kku.ac.th/pracha/ Breeding.htm) ได้กล่าวไว้ดังนี้  อาหารปลาสวยงาม เหมือนกับอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์หรือการเลี้ยง  ได้กล่าวถึง อาหารสัตว์น้ำโดยทั่วไปแบ่งเป็น  2  ประเภท คือ
1)    อาหารสำเร็จรูป  ชนิดของอาหารสำเร็จรูปของปลาสวยงามที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมีอยู่  3  ประเภท
(1)   อาหารเม็ดจมน้ำ  อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับปลาสวยงามที่หากินอาหารตามพื้นก้นตู้เช่นปลาหมู   ปลาปล้องอ้อย   ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้เพราะปลากินไม่ทัน   อาหารจะตกค้างลงในวัสดุกรองมาก   มักมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย
(2)   อาหารเม็ดลอยน้ำ  อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับปลาทุกประเภท   มักมีคุณสมบัติลอยตัวอยู่ผิวน้ำได้ประมาณ  3 – 5 ชั่วโมง  แล้วแต่ชนิดอาหาร   ทำให้ปลากินอาหารได้ดี   และผู้เลี้ยง สังเกตได้ว่าให้อาหารพอเพียงหรือไม่   ปัจจุบันจึงมักผลิตเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำ
(3)   อาหารผง   อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้อนุบาลลูกปลา   มีลักษณะเป็นผงละเอียด   อาจให้กระจายตัวที่ผิวน้ำหรือผสมน้ำหมาดๆปั้นเป็นก้อนก็ได้   โดยถ้าเป็นลูกปลากินพืช   เช่น  ลูกปลาตะเพียนทอง   ลูกปลาทอง  และลูกปลาคาร์พ   ควรให้กระจายตัวที่ผิวน้ำ   แต่ถ้าเป็นลูกปลากินเนื้อ  เช่น  ลูกปลาแขยง   และลูกปลาดุก   ควรปั้นก้อนให้   อาหารชนิดนี้จำเป็นสำหรับผู้เลี้ยงปลาสวยงามที่ผลิตลูกปลาออก จำหน่าย
2)  อาหารธรรมชาติ   เป็นอาหารที่มีชีวิต ปกติสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ   แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงอาหารธรรมชาติเหล่านี้   เพราะมีความต้องการในปริมาณค่อนข้างมากและสม่ำเสมอ   จัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามใน ปัจจุบัน    อาหารธรรมชาติที่สำคัญได้แก่
(1)  ไดอะตอม  และ  ยูกลีนา   เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น   พบได้หนาแน่นตามบ่อเลี้ยงปลาที่มีการให้อาหารอย่างเต็มที่   โดยจะขึ้นเป็นฝ้าสีน้ำตาลแกมเขียว   แต่ถ้าได้รับแสงแดดจัดๆจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง   แล้วถูกลมพัดไปหนาแน่นอยู่ตามริมบ่อทางท้ายลม   มีประโยชน์สำหรับใช้อนุบาลลูกปลาที่ค่อนข้างมีขนาดเล็ก เช่นลูกปลาตะเพียนทอง   ลูกปลาม้าลาย   ลูกปลากระดี่แคระ   ลูกปลากัด   และลูกปลาซิวต่างๆ   ซึ่งในช่วงที่ลูกปลาออกจากไข่ใหม่ๆในระยะ  2 – 3 วันแรก   จะยังไม่สามารถกินไข่แดงหรือไรน้ำชนิดต่างๆได้   ควรตักฝ้าน้ำซึ่งจะมีไดอะตอมและยูกลีนาอยู่มากมาให้ลูกปลากิน   โดยเทผ่านกระชอนผ้าขาวบางเพื่อให้มีการกระจายตัว   และป้องกันศัตรูของลูกปลาจะลงไปในบ่อได้   ให้กินอยู่ประมาณ  2 – 3  วัน  ลูกปลาจะเติบโตขึ้นจนสามารถกินไรชนิดอื่นหรืออาหารผงต่อไป   ก็จะทำให้ลูกปลาแข็งแรงและมีอัตราการรอดมาก
(2)  ไรแดง  เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พอจะสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า เพราะมีขนาด ประมาณ  1.2  มิลลิเมตร   จัดเป็นแพลงตอนสัตว์   ในธรรมชาติมักพบตามแหล่งน้ำที่เริ่มเน่าเสีย   และมี จุลินทรีย์ มาก   เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับอนุบาลลูกปลา   และเลี้ยงปลาสวยงามที่มีขนาดเล็ก   เช่นปลาม้าลาย   ปลานีออน   ปลาซิวข้างขวาน   ปลาสอด   และปลาหางนกยูง
(3)   ลูกน้ำ  เป็นตัวอ่อนของยุงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี   เป็นอาหารธรรมชาติที่ได้รับความนิยมใช้เลี้ยงปลาสวยงามมานาน   จะพบได้มากตามแหล่งน้ำเน่าเสีย   และตามแหล่งน้ำขัง   ปัจจุบันยังมีความจำเป็นใช้เลี้ยงปลาบางชนิด   เช่น  ปลากัด   ปลาปอมปาดัวร์
(4)   หนอนแดง  เป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด   ลักษณะคล้ายลูกน้ำแต่ตัวมีสีแดงสด   และมักสร้างปลอกอยู่ตามพื้นก้นบ่อ   พบได้ทั่วไปตามแหล่งที่มีน้ำขัง   เป็นอาหารที่มีคุณค่า   ที่ได้รับความนิยมใช้เลี้ยงปลาสวยงามทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
(5)   อาร์ทีเมีย   เป็นไรน้ำเค็ม   ตัวอ่อนจะมีขนาดประมาณ  0.3  มิลลิเมตร  มีความ สำคัญสำหรับการใช้อนุบาลลูกปลา แต่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ  1.2  เซ็นติเมตร  เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามได้ดี

———————————————————————————————————————-
ทรงศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์  (2551) “การผลิตปลาสวยงาม”  เรื่อง การผลิตและการตลาดปลาสวยงาม ของ
เกษตรกร ผู้ทำการค้าใน เขตจตุจักร วิทยานิพนธ์ ปริญญาเกษตรศาสตรมหาบัณฑิต
แขนง วิขาส่งเสริมการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Comments are closed.