การทำฟาร์มเพาะเลี้ยง

การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวย งามตามมาตรฐานกรมประมงประมง
ทรงศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์

1.  องค์ประกอบพื้นฐานของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการจัดการฟาร์มให้ถูก สุขอนามัย
องค์ประกอบพื้นฐานของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการจัดการฟาร์มให้ถูก สุขอนามัย โดยจำแนกเป็น 2 ส่วน (อาคม ชุ่มธิ  2546  อ้างถึงใน ยุพินท์  วิวัฒนชัยเศรษฐ์  2548 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=117) ได้จำแนก ดังนี้
1.1  ส่วนที่ 1 องค์ประกอบพื้นฐาน
1)  สถานที่ตั้ง โดยทั่ว ๆ ไปสถานที่ตั้งฟาร์มควรอยู่ใกล้แหล่งสาธารณูปโภค และการคมนาคมสะดวก
2)  แหล่งน้ำ การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามบางแห่งอาศัยน้ำประปา แต่ถ้านำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ควรเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ห่างไกลโรงงาน อุตสาหกรรมและแหล่งปฏิกูล
3)  ลักษณะโรงเรือน โรงเรือนที่ดีจะช่วยป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ความชื้น อุณหภูมิ ฯลฯ
4)  บ่อ / ระบบบ่อ ควรแบ่งพื้นที่การใช้งานอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น บ่อพักน้ำ บ่อพ่อแม่พันธุ์ บ่อเพาะฟัก บ่ออนุบาล บ่อเลี้ยง บ่อปรับสภาพปลา ซึ่งลักษณะบ่ออาจจะเป็นบ่อดิน บ่อซีเมนต์ ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ กะละมังพลาสติก ฯลฯ ในแต่ละขั้นตอนการผลิตของปลาแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน ความต้องการไม่เหมือนกัน ทั้งในด้านการดูแล คุณภาพน้ำ ปลาเล็ก ปลาใหญ่ ถ้าไม่แยกการใช้ประโยชน์ การจัดการค่อนข้างยาก ควรแบ่งพื้นที่การใช้งาน เช่น บ่อเพาะพันธุ์ บ่อกักกันโรค บ่อขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ บ่ออนุบาลลูกปลา บ่อเลี้ยงปลาวัยรุ่น สำหรับส่วนกักกันโรคควรจัดพื้นที่ให้ห่างมาก ๆ กับปลาปกติ เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาด
5)  ระบบน้ำ ควรมีทางระบายน้ำเข้าและน้ำออก ซึ่งทั้ง 2 ระบบ คือ 1.น้ำผ่าน 2.น้ำหมุนเวียน (ประหยัดน้ำ และรักษาคุณสมบัติน้ำให้คงที่) น้ำที่มาใช้ควรผ่านการกรองขจัดสารพิษ คลอรีน แอมโมเนียที่ไม่ต้องการ สำหรับระบบน้ำหมุนเวียนใช้ไบโอ-ฟิลเตอร์ แอมโมเนีย และไนไทรต์ถูกแบคทีเรียนำไปใช้ ในกรุงเทพฯ น้ำประปามีราคาแพงจะนิยมระบบน้ำหมุนเวียน โดยท่อน้ำล้นออกควรจัดให้สามารถปรับระดับให้ต่ำกว่าพื้นจะได้ไม่เฉอะแฉะและ ดูสะอาด
6)  ระบบอากาศ ปลาแต่ละชนิดต้องการออกซิเจนต่างกัน ปลาสวยงามที่ต้องการออกซิเจนน้อย เช่น ปลากัด อาจไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเพิ่มอากาศ ส่วนปลาอื่น ๆ ที่ต้องการออกซิเจนสูง จำเป็นต้องมีเครื่องเพิ่มอากาศ
7)  ระบบไฟฟ้า ในฟาร์มที่เลี้ยงปลาต้องการออกซิเจนสูง เช่น ปลาทอง ปลาคาร์พ ปลาหมอสี ควรมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เครื่องสำรองไฟฟ้าสำหรับการทำฟาร์มแบบธุรกิจนั้นมีความจำเป็นมาก หากขาดออกซิเจนทำให้ปลาเครียด ป่วย และไม่กินอาหาร
8)  อุปกรณอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น  เครื่องทำน้ำอุ่น   ตู้เย็น เพื่อเก็บรักษาอาหาร สวิง ถังออกซิเจน กะละมัง

1.2  ส่วนที่ 2 การจัดการฟาร์ม

ได้แก่ การจัดการเกี่ยวกับพ่อแม่พันธุ์ปลา อาหารและการให้อาหาร สุขภาพสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำ การจัดเตรียมปลาเพื่อจำหน่าย การบรรจุและลำเลียงขนส่งปลา สุขลักษณะภายในฟาร์มและระบบการบันทึกข้อมูลการจัดการฟาร์มอย่างถูก สุขอนามัย
อาหาร และการให้อาหาร ควรเลือกชนิดอาหารให้เหมาะสมกับอุปนิสัยและขนาดของปลา เช่น ปลาขนาดเล็ก ปากเล็กต้องการอาหารที่มีคุณค่าสูงโดยใช้อาหารมีชีวิต ให้อาหารน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ส่วนการให้อาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อยปลาอาจท้องอืดตาย
1)   อาหารที่ใช้กับปลาสวยงาม จำแนกได้ ดังนี้
(1)  อาหารมีชีวิต ได้แก่ ลูกน้ำ ไรแดง อาร์ทีเมีย ฯลฯ
(2)  อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารผง อาหารเม็ด
(3) อาหารผสม ผู้เพาะเลี้ยงบางรายผสมอาหารเอง โดยมีส่วนประกอบทั้งเนื้อปลา เนื้อกุ้ง ปลาป่น ไข่ตุ๋น ให้ปลากิน
การให้อาหาร ถ้าเป็นอาหารมีชีวิต จำพวก ลูกน้ำ หนอนแดง ไรแดงน้ำจืด ก่อนนำมาใช้ต้องมีการฆ่าเชื้อ เนื่องจากอาหารดังกล่าวส่วนใหญ่ได้มาจากแหล่งน้ำไม่สะอาด ต้องฆ่าเชื้อโรค สำหรับอาหารสำเร็จรูป ควรเก็บในที่แห้ง มิดชิด ส่วนอาหารผสมเองต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เช่น ไข่ตุ๋นผสมนม ผสมหัวอาหาร หนอนแดงแช่แข็ง ฯลฯ
2)  แนวทางป้องกันโรค  มีดังนี้
(1)  จัดผังบ่อให้อยู่ห่างกัน ระหว่างบ่อกักกันโรคกับบ่อเพาะเลี้ยง
(2)  แยกใช้อุปกรณ์กับปลาป่วยและปลาไม่ป่วย
(3)  ยาและสารเคมี ใช้ในเวลาที่จำเป็นจริง ๆ ควรใช้เกลือเพื่อช่วยลดความเครียด ปรับสภาพปลา สำหรับฟอร์มาลินใช้ในอัตราที่เหมาะสม
การกำจัดและทำลายปลาที่เป็นโรค หากพบว่าปลาที่เลี้ยงเป็นโรคระบาดร้ายแรง ต้องทำลายด้วยการฝังหรือเผา แต่ถ้าเลี้ยงปลาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครไม่สามารถเผาหรือฝังได้ ต้องบรรจุในถุงพลาสติกห่อให้เรียบร้อย ใส่ถุงขยะสีดำฝากทิ้งรถขยะ อย่าโยนทิ้งที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้
3)  น้ำ    คุณภาพ น้ำที่นำมาใช้เลี้ยงปลาสวยงาม ควรมีระบบกรองน้ำ โดยมีหลักเบื้องต้น คือ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ แหล่งน้ำแต่ละแห่งต่างกัน เช่น น้ำประปา น้ำคลอง น้ำบาดาล การปรับปรุงคุณภาพไม่ให้มีพิษ อาทิ น้ำประปาต้องไม่มีคลอรีน น้ำธรรมชาติไม่มีแอมโมเนีย ไนไทรต์ในปริมาณที่เป็นพิษต่อปลา
4)  อุณหภูมิ   มีความสำคัญ ส่วนใหญ่ปลาสวยงามของบ้านเราอยู่ในเขตร้อน ถ้าอุณหภูมิต่อกว่า 25 องศาเซลเซียส ปลาจะว่ายน้ำช้า เครียด ไม่ค่อยกินอาหาร ต้องแก้ไขให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม
5)  อากาศ    การเพิ่มอากาศในน้ำควรไม่น้อยกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ปลาส่วนใหญ่ต้องการออกซิเจนสูง ยกเว้น ปลากัด ปลาหางนกยูง ในพื้นที่ที่ไม่มีออกซิเจนจะเห็นว่าปลากัดขึ้นมาฮุบอากาศตลอดเวลา เมื่อเห็นภาวะดังกล่าวควรปรับปรุงน้ำและเพิ่มอากาศ ทั้งนี้ในระหว่างการเพาะเลี้ยง ต้องตรวจวัดคุณภาพน้ำสม่ำเสมอทุกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ต่อครั้ง จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยง
6)  การจัดเตรียมปลาเพื่อจำหน่าย  ควรมีบ่อพักปลาก่อนจำหน่าย และขั้นตอนการจับก่อนนำมาใส่บ่อพัก ต้องระวังมิให้ปลาเครียด หรือปลาเกิดบาดแผล หรือครีบไม่สมบูรณ์ เพราะปลาที่ขนย้ายจะเกิดความเครียด สีเปลี่ยน ว่ายน้ำช้า ก่อนบรรจุลำเลียงต้องงดให้อาหารปลาและฆ่าเชื้อปรสิตก่อนจำหน่ายเป็นเวลา 7 – 10 วัน
7)   การบรรจุและขนส่ง   ควรบรรจุปลาในปริมาณพอเหมาะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดปลา ระยะทางอย่างน้อยอยู่ได้ 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป โดยสามารถดูจากเว็บไซต์ชิบปิ้งส่งออกการบรรจุในน้ำสะอาดคุณภาพดี การขนส่งภายในประเทศต้องมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ซึ่งไม่ควรเปลี่ยนเกินกว่า 1-2 องศาเซลเซียส หรือใช้ยาสลบช่วยลดความเครียดเมื่อขนย้ายปลาขนาดใหญ่
8)   สุขอนามัยฟาร์ม หรือสิ่งแวดล้อมภายในฟาร์ม   ควรมีการแบ่งส่วนโรงเรือน อุปกรณ์ ห้องน้ำ บางฟาร์มได้ปรับเปลี่ยนบ่อเลี้ยงกุ้งมาเป็นบ่อเลี้ยงปลาสวยงาม การทำความสะอาดรอบ ๆ ฟาร์มมีผลต่อภาพลักษณะของฟาร์มเปรียบเทียบได้ระหว่างซูเปอร์มาร์เกตกับร้าน ขายของชำ
9)  ระบบการบันทึกข้อมูล   จะช่วยได้หลายด้าน เช่น การเพาะพันธุ์ช่วงนี้เป็นอย่างไร พ่อแม่พันธุ์เป็นอย่างไร คุณภาพน้ำสัมพันธ์กับอาหาร สุขภาพของปลา การใช้สารเคมี เป็นบันทึกช่วยจำ ประวัติการใช้บ่อ ซึ่งปลาแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกันไป
สำหรับการให้อาหารธรรมชาติ เช่น ลูกน้ำ ถ้าไม่จำเป็นให้งด ส่วนการใช้ไรแดง หนอนแดง ก็ต้องระมัดระวังอาจมาจากแหล่งน้ำไม่สะอาด ควรใช้ไรทะเลหรืออาร์ทีเมียจะดีกว่า นอกจากนี้ควรมีเครื่องวัดความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำที่นำมาใช้ในการเพาะ เลี้ยงปลาสวยงาม เพื่อให้ได้ปลาที่มีคุณภาพสมบูรณ์และแข็งแรงอีกด้วย
เต็มดวง สมศิริ (2544 :  http://www.nicaonline.com/articles/ site/view_article.asp? idarticle=136 )  ได้กล่าวไว้ดังนี้  การส่งออกที่กระจายทั่วโลก ผู้นำเข้าปลายทางสร้างกติกาโดยระบุให้ออกใบรับรองการตรวจฟาร์มซึ่งมีการร้อง ขอมาหลายประเทศโดยเริ่มตรวจมาตั้งแต่ปี 2542 จำนวน 7 ฟาร์ม ปี 2543 จำนวน 9 ฟาร์ม ปี 2544 จำนวน 17 ฟาร์ม การรับรองให้เฉพาะที่ผ่านการตรวจจากสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำกรมประมง ประเทศที่กำหนดได้แก่ กรีซ นิวซีแลนด์ โมร็อคโค อิสราเอล ออสเตรเลียอิตาลีเซ็กโกสโลวาเกีย หากจะเปรียบเทียบกับออสเตรเลีย และ  สหภาพยุโรปใช้มาตราการ เข้มงวดกว่าออสเตรเลียทั้ง ๆ ที่ออสเตรเลียกำหนดเป็นประเทศแรก ขณะนี้ออสเตรเลียผ่อนปรน แต่สหภาพยุโรปเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะสเปนมีมาตรฐานสูงมาก
สำหรับการตรวจสุขอนามัยฟาร์ม จะตรวจบ่อพักน้ำระบบกรองระบบบำบัดระบบต่างๆ แยกกันชัดเจน ปัจจุบันฟาร์มมีการปรับปรุง และมีระเบียบมากขึ้น ส่วนระบบกรองต้องล้างทำความสะอาดเพราะเป็นแหล่ง หมักหมม ของเชื้อโรค ฟาร์มส่วนใหญ่ไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูล เช่น ชนิดปลาแหล่งที่มา หากเกิดโรคระบาดก็ไม่สามารถทราบแหล่งกำเนิดเชื้อโรคควรมีการบันทึกการป่วย โรคการใช้ยาและสารเคมี วันจำหน่ายส่งไปที่ใด พักปลาไว้กี่วัน บางแห่งไม่พักปลาส่งปลายทางปลาตาย ถ้าปลาสุขภาพไม่ดีก็อย่าส่งออกไปทำให้เสียภาพพจน์ของประเทศไทย
นอกจากนี้ฟาร์มยังไม่มีการแยกชนิดปลา ที่ได้มาจากธรรมชาติและการเลี้ยง การทำฟาร์มต้องแยกตู้ระหว่างปลาทั้งสองประเภทไม่ควรปะปนกันในแต่ละรุ่น เพราะปลาสภาพแวดล้อมต่างกัน เชื้อโรคก็จะต่างกันในการตรวจฟาร์ม ปีละ 4 ครั้ง ทุก ๆ 3 เดือน เวลาใกล้กำหนด ตรวจครั้งต่อไป เจ้าของฟาร์มต้องแจ้งล่วงหน้าเพราะการตรวจใช้เวลา 1 สัปดาห์ เนื่องจากต้องตรวจปลาด้วย ซึ่งบางประเทศ ระบุในใบรับรองว่า ไม่มีของเสียจากมนุษย์หรือสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลหมู ที่ใช้เลี้ยงไรน้ำแล้วนำมาให้ปลากิน การเพาะไรแดง หนอนแดงของบ้านเราส่วนใหญ่ใช้มูลไก่ มูลหมู ดังนั้นต้องเปลี่ยนระบบการเพาะไรแดง
2.  เกณฑ์การตรวจสุขภาพอนามัยฟาร์ม
เต็มดวง สมศิริ (2544  : http://www.nicaonline.com/articles/ site/view_article. asp?idarticle=136 )   ได้กล่าวถึง เกณฑ์การตรวจสุขภาพอนามัยฟาร์ม ไว้ดังนี้
1.  ฟาร์มควรมีบ่อพักระบบกรองน้ำ และระบบบำบัดน้ำใช้แล้วแยกกันชัดเจน
2.  สภาพภายในฟาร์ม ทางเดิน ทางระบายน้ำ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ตู้ปลาหรือบ่อปลาระบบให้อากาศ ระบบบ่อพักน้ำระบบกรองน้ำ มีการรักษาความสะอาด และบำรุงรักษาเป็นอย่างดี
3.  ฟาร์มจะต้องมีระบบการเก็บข้อมูล ชนิด และจำนวนของสัตว์น้ำที่มีอยู่ในฟาร์ม ตลอดจนบันทึก วัน และสถานที่ที่ซื้อสัตว์น้ำเข้ามาในฟาร์ม
4.  ฟาร์มจะต้องมีระบบบันทึก ลักษณะอาการป่วย การตายของปลา ประวัติการใช้ยา และสารเคมีในการรักษาในกรณีที่พบโรคชนิดใหม่ที่รักษาไม่หาย จะต้องส่งตรวจโรคที่คลินนิกโรคสัตว์น้ำ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
5.  ฟาร์มจะต้องแยกชนิดของสัตว์น้ำที่จับมาจากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงออกจาก กัน หรือแยกสัตว์น้ำที่นำเข้ามาแต่ละครั้งไม่ให้ปะปนกัน
6.  ปลาที่อยู่ในฟาร์มไม่เคยป่วย เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในระยะเวลา 3 เดือน ที่ผ่านมา
7.  การเลี้ยงปลาในฟาร์มปลาส่งออก จะต้องไม่ใช้อาหารที่มีส่วนประกอบจากของเสียของมนุษย์หรือสัตว์
8.  ระบบน้ำที่ใช้ภายในฟาร์มจะต้องใสสะอาดและมีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำดื่ม เช่น น้ำประปา หรือน้ำบาดาลที่ผ่านการกรอง และฆ่าเชื้อแล้ว
9.  ชนิดของปลาที่อยู่ในฟาร์มหรือปลาที่จะส่งออก จะต้องไม่เป็นชนิดปลาต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติประมง และพระราชบัญญัติสัตว์สงวนและคุ้มครอง
10.  ปลาต้องได้รับการแช่สารเคมี ก่อนการส่งออกอย่างน้อย 7 วัน เพื่อกำจัดปรสิตต่าง ๆ ที่เกาะตามผิว ตัว และเหงือก เช่น สารฟอร์มาลิน ดิพเทอร์เร็กซ์ หรือเกลือ
11.  บริเวณที่บรรจุปลาเพื่อการส่งออกต้องสะอาด และควรแยกจากพื้นที่พักปลา
12.  ภาชนะที่ใช้ในการบรรจุ เพื่อการขนส่งจะต้องเป็นของใหม่
13.  เจ้าหน้าที่กรมประมงจะทำการตรวจสุขภาพอนามัยฟาร์มและสุ่มตัวอย่างปลา มาทำการตรวจวินิจฉัยเชื้อโรค ประมาณ 2-4 ครั้งต่อปี
ระบบน้ำ การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามจะใช้  น้ำประปา  น้ำบาดาล  ลำคลอง คลองชลประทาน ถ้าเป็นน้ำคลองต้องมีบ่อพักน้ำใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน จากนั้นนำน้ำผ่านระบบกรองน้ำใส แล้วจึงนำมาใช้ในฟาร์มเพื่อส่งออก ส่วนน้ำที่ใช้ในการบรรจุปลาส่งออก อยู่ในระดับน้ำที่ใช้ดื่มได้อย่างไรก็ตามขอให้น้ำใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
ชนิดปลาที่ส่งออก มีหลายฟาร์มนำปลาต้องห้ามมาอยู่ในฟาร์ม เช่น ปลาหมูอารีย์ ปลาตะพัด ปลาเสือตอ ปลายี่สกไทย ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาปักเป้า ปลาจิ้มฟันจระเข้ ส่วนใหญ่เป็นปลาที่จับจากธรรมชาติ ฉะนั้น ต้องตรวจสอบว่าตัวไหน ต้องห้ามครอบครองตามพระราชบัญญัติกรมประมงและไซเตส
———————————————————————————————————————                          ทรงศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์  (2551) “การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามตามมาตรฐานกรมประมงประมง ”  เรื่อง การผลิตและการตลาด
ปลาสวยงามของ เกษตรกร    ผู้ทำการค้าใน เขตจตุจักร วิทยานิพนธ์ ปริญญาเกษตรศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิขา
ส่งเสริมการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Comments are closed.