การตลาดปลาสวยงาม

การตลาดปลาสวยงาม
ทรง ศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์

การตลาด  หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ทั้งลักษณะและวิธีการ ที่มีผลทำให้ผลผลิตเคลื่อนย้ายจากมือเกษตรกรไปยังผู้บริโภค
ลัดดา  พิศาลบุตร  (2547 :426)  ได้กล่าวถึง การเคลื่อนย้ายหรือเคลื่อนที่ของสินค้าจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่ง  หรือจากตลาดหนึ่งไปยังอีกตลาดหนึ่ง ทางด้านการเกษตร เรียกว่า วิธีการตลาด (Marketting channel)    และเนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย  ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแหล่งผู้บริโภคหรือพูดอีกนัยหนึ่ง  การผลิตและการบริโภคของสินค้าเกษตร โดยทั่วไปจะเกิดขึ้น  ต่างสถานที่  ต่างเวลา และต่างบุคคล  ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเก็บรวบรวมสินค้าเกษตร ณ แหล่งหรือระดับการผลิตแล้วส่งไปตามวิถีการตลาด ซึ่งสินค้านั้นอาจจะมีการแปรรูปหรือไม่นั้นก็ย่อมขึ้นอยู่กับ ลักษณะทางกายภาพของสินค้าเกษตรนั้น
ในวิถีการตลาด ของปลาสวยงามนั้น จากเกษตรกรผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าสู่ตลาดในระดับ ต่างๆ เพื่อทำการซื้อขายระหว่างเกษตรกรและคนกลาง  คนกลางในตลาดปลาสวยงามในที่นี้นั้น  หมายถึง พ่อค้าขายส่ง  ผู้รวบรวมปลา (รังปลา)  และพ่อค้าขายปลีก  ซึ่ง บุคคลเหล่านี้ จะอยู่ระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค

1.  ตลาดปลาสวยงาม ในประเทศ
ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์  (2549 : http://home.kku.ac.th/pracha/Introduction.htm) ได้เขียนไว้ว่าปลาสวยงาม  มีการนิยมเลี้ยงกันอย่างมาก  ในปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นร้านจำหน่ายปลาสวยงาม ทั้งที่อยู่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  ตามความหนาแน่นและความเจริญ ของประชากรในแต่ละพื้นที่จะมีเพียงจังหวัดละ 1 ร้าน โดยอยู่ในอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด ยกเว้นจังหวัดใหญ่ๆที่มีประชากรมากอาจมี 3 – 10 ร้าน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี โดยที่ร้านขายปลาสวยงามเหล่านี้มักจะไม่ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงลูกปลาขึ้น เอง แต่ดำเนินกิจการคล้ายกับร้านค้ารายย่อย คือรับซื้อสินค้าจากร้านขายส่ง ผู้ผลิต หรือเกษตรกรมาขายต่ออีกทีหนึ่ง
ใน อดีต ร้านขายส่งปลาสวยงามนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่  ตลาดซันเดย์พลาซ่าและตลาดนัดสวนจตุจักร  ปัจจุบันตลาดซันเดย์พลาซ่าถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ และตลาดขายปลาในตลาดนัดจตุจักรร้านขายปลาก็เหลือน้อยแทบจะไม่มีให้เห็น อย่างไรก็ตามได้มีตลาดขายส่งปลาสวยงามเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ตลาดสนามหลวง 2 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะในขณะนี้บริเวณใกล้เคียงสวนจตุจักร หรือตรงข้ามสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ ด้านพิพิธภัณฑ์เด็ก  ก็มีการแยกตัวของตลาดปลาสวยงามเกิดขึ้นอีกหลายตลาด ทั้งขายส่งและขายปลีกโดยเฉพาะ ในเช้าของ  ทุกวันพฤหัสจนถึงเช้าวันศุกร์  ในบริเวณตลาดศรีสมรัตน์ (ตลาด ที่  การรถไฟแห่งประเทศไทย  จัดหาให้ผู้ค้าบางส่วนที่ถูกรื้อถอนจากตลาดซันเดย์)  ตลาดจตุจักรพลาซ่า ด้านติดกับตลาดศรีสมรัตน์  และบริเวณ ลานด้านข้าง ตลาดเจ.เจ.มอลล์    บริเวณเหล่านี้มีร้านค้าปลาสวยงามเปิดขายประจำอยู่หลายร้าน และในวันดังกล่าวจะมี ผู้ค้าหรือเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงนำปลาสวยงามชนิดต่างๆ  จากแหล่งต่างๆเข้ามาวางขายในลักษณะ การขายส่ง เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ผู้ค้าปลีกปลาสวยงามที่เปิดร้านอยู่ในแหล่งต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจะเดินทางมาหาซื้อปลาจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง
อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล  (2546 : http://www.nicaonline.com/articles/site/ view_article.asp?idarticle=111)  ได้กล่าวถึงตลาดขายส่งไว้ดังนี้  เกษตรกรจะนำปลามาจากฟาร์มโดยตรง หรืออาจจะมีผู้รวบรวมมาจากเกษตรกรนำปลามาขาย ปลาที่นำมาขายเป็นปลาที่มีอายุ 2-3 เดือนหรือขนาด 2 นิ้วขึ้นไป ผู้ขายปลีกปลาสวยงามจากทั่วประเทศมาซื้อปลาไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งรวมถึงบุคคล ทั่วไปที่นิยมเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรก นอกจากนั้นมีชาวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง ประมาณการขายส่งปลาสวยงามประมาณ 150,000-200,000 ตัวต่อสัปดาห์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี

2.   ตลาดปลาสวยงาม  ต่างประเทศ
ธุรกิจการส่งออกปลาสวยงามต่างกับการส่งออกสินค้าอื่น (อมรรัตน์  เสริมวัฒนากุล  2544  อ้างถึงใน ยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์  2548 : http://www.nicaonline.com/articles/ site/ view_article.asp?idarticle=136) กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลการส่งออกปลาแต่ละชนิดไม่มี ข้อมูลไปอยู่กรมศุลกากร ปลานับเป็นน้ำหนักไม่นับเป็นตัว ยอดซื้อขายปลาทั่วโลก 8,000 ล้านบาท ไม่รวมอุปกรณ์ ถ้ารวม 2,600 ล้านดอลล่าร์ ธุรกิจนี้ยังมีช่องว่างขยายได้  (90-95 เปอร์เซ็นต์ เป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาทอง ปลาหางนกยูง ปลากัด ฯลฯ มีปลาทะเลเพียง 5 เปอร์เซ็นต์)  ซึ่งประเทศไทยกำหนดไม่ให้ส่งออก และนำเข้าสำหรับประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สามารถส่งออกปลาทะเลสวยงามได้ ในส่วนที่มีการซื้อขายคือ แถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอนโคลัมเบีย ฟลอริดาและสิงคโปร์มีจำนวน 120 ราย
จากการสำรวจผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2543 มี 1,500 ราย ผลผลิตปลาสวยงามกว่า 20 ชนิดส่งไปแถบอเมริกา เช่น ปลาหางนกยูง นำเข้าจากประเทศไทย 400,000 ตัว กลุ่มประเทศที่ผลิตปลาหางนกยูง ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย ศรีลังกา ปลาที่ส่งออกต้องมีคุณภาพดี และราคาไม่สูง เพราะต้องแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและความเสียหายปลายทาง
เกี่ยวกับตลาดส่งอออกของไทย  (ไมตรี ดวงสวัสดิ์  2544  อ้างถึงใน ยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์  2548 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=136 ) ได้กล่าวไว้ ดังนี้   “ตลาดยังมีลู่ทางทำอย่างไรจะเจาะตลาดได้ก็คือการผลิตให้ได้ตรงตามความต้อง การของตลาด ทั้งปริมาณ คุณภาพ สุขอนามัย ก็จะทำให้การส่งออกมั่นคงและมีความก้าวหน้า เกษตรกรไทยมีความสามารถด้านการเพาะเลี้ยง แต่ยังขาดประสบการณ์ ด้านการค้าขาย ซึ่งทางรัฐบาลและกรมประมงพยายามผลักดันให้ธุรกิจปลาสวยงามก้าวไปสู่ตลาดโลก ได้ ขอให้มีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งยังสามารถสร้างพลังการผลิต การประกันคุณภาพความร่วมมือและการสนับสนุนจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำส่ง ออกปลาสวยงามในภูมิภาคเอเชียต่อไป”

ตลาดปลาสวยงามในต่างประเทศ (วันเพ็ญ มีนกาญจน์   2546 อ้างถึงใน  ยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์  2547 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=117) ได้กล่าวถึงไว้ดังนี้  ผลการสำรวจการส่งออกปลาสวยงามทั่วโลกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชา ชาติ ปี 2541 มีมูลค่า 1,836 ล้านบาท  มูลค่าการส่งออกของไทยจากกรมศุลกากร 200 – 300 ล้านบาท ซึ่งความจริงประเทศไทยส่งออกปลาสวยงามมากกว่าพันล้านบาทนอกจากนี้มีข้อมูล INFOFISH ปี พ.ศ. 2545  การส่งออกปลาสวยงามทั่วโลกมีมูลค่า 37,539 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้ความจริงมากกว่าประเทศที่นำเข้าปลาสวยงามจากไทย ได้แก่ อเมริกา สิงคโปร์  ฮ่องกง ซึ่งไม่ต้องใช้ใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ แต่ประเทศในสหภาพยุโรป ต้องใช้ ใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ ปี 2545 กรมประมงได้ออกใบอนุญาตประมาณ 17,000 ฉบับ ปลาที่ส่ง ออก มากโดยมาขอใบรับรองสุขภาพปี 2545 ตามลำดับดังนี้ (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ)
อันดับ 1  ปลาปอมปาดัวร์ คนไทยผลิตได้คุณภาพดีสามารถสร้างชื่อเสียง
อันดับ 2  ปลากัด (สำหรับปี 2543 – 2544 ปลากัดส่งออกมากเป็นอันดับ 1)
อันดับ 3  ปลาทอง เกษตรกรไทยผลิตได้คุณภาพซึ่งจะมีผู้ซื้อเดินทางไปที่ฟาร์มฯ จังหวัดราชบุรี โดยมีจีนเป็นคู่แข่ง ส่วนญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตที่มีคุณภาพ
อันดับ 4  ปลาคาร์พ ปัจจุบันมีการส่งออกมากเนื่องจากอินโดนีเซียมีปัญหาโรคระบาด
อันดับ 5  ปลาหางไหม้ เดิมเป็นปลาพื้นเมืองของไทย ปัจจุบันไม่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงในปัจจุบันเป็นปลาของอินโดนีเซีย
อันดับ 6  ปลาหางนกยูง มีความหลากหลายมากกรมประมงได้ส่งเสริมและแจกจ่ายพันธุ์ปลาหางนกยูง เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ผู้ผลิต     ผู้ส่งออกมีการนำเข้าปลาหางนกยูงจากญี่ปุ่น และอเมริกา เพื่อดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์
อันดับ 7  ปลาน้ำผึ้ง เป็นปลาแม่น้ำของไทย มีการเพาะขยายพันธุ์มากที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากเป็นปลาซึ่งตลาดต่างประเทศต้องการ
อันดับ 8  ปลาหมอสี เป็นปลาที่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมจากแอฟริกาและอเมริกาใต้ เกษตรไทยนำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาเพาะพันธุ์   ซึ่งผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเกษตรกรหลายรายปรับเปลี่ยนไปเพราะปลาข้ามสายพันธุ์ (Crossbreed)  สำหรับผู้ที่เริ่มต้นควรเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมเนื่องจากสามารถขาย ต่างประเทศได้
อันดับ 9  ปลาทรงเครื่อง เป็นปลาที่ประเทศไทยเพาะได้ประเทศเดียว
อันดับ 10  ปลาซักเกอร์ คล้ายปลาเทศบาล
การสำรวจผู้ส่งออก ปลาสวยงามทุกตัวมีคุณค่าการเพาะพันธุ์ปลาจำหน่ายผลกำไรอยู่ที่จำนวนโดยรวม ของการผลิตอัตราการรอด อย่าเทียบราคาจตุจักร ไม่ยึดติดกับราคาในประเทศ ถ้าใครเพาะพันธุ์ปลาสวยงามได้ต้องการหาตลาดให้ติดต่อมาที่ สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ จะประสานผู้ส่งออกให้ ทั้งนี้ต้องมีจำนวนปลาเพียงพอ มีปลาสม่ำเสมอ มีพันธุ์ปลาสำรองและปลามีคุณภาพตามความพึงพอใจของลูกค้า
ในขณะนี้ ประเทศไทยส่งออกปลาสวยงามไปอเมริกามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรไทยมีความสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ทั้งชนิดและปริมาณ ซึ่งแต่ก่อนนั้น สิงคโปร์เป็นผู้นำ คนอเมริกันนิยมเลี้ยงปลาสวยงามเป็นอันดับ 3 ของประเภทสัตว์เลี้ยง อันดับ 1 สุนัข อันดับ 2 แมว
สหภาพยุโรปเป็นตลาดปลาสวยงามขนาดใหญ่ (40% ของตลาดโลก) ประเทศที่นำเข้าสูง 3 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งข้อมูล OFI Journal รายงานการนำเข้าปลาสวยงามไปยังสหภาพยุโรปนั้น สิงคโปร์มีส่วนแบ่งการตลาด 32% ไทย  2% ทั้งนี้ตลาดอเมริกา ไทย ประสบความสำเร็จแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ต้องหาส่วนแบ่งตลาดยุโรปโดยจัดทำมาตรฐานฟาร์มเพาะสหภาพ ยุโรปเข้มงวดเกี่ยวกับคุณภาพสุขอนามัยฟาร์ม น้ำมีคุณภาพดี สุขภาพปลาสมบูรณ์และปลอดโรค
การส่งปลาสวยงามไป สหภาพยุโรปปลาทุกตัวทุกครั้งต้องขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ ปี 2545 การส่งออกไปยังฝรั่งเศสมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 11.6 ล้านบาท เป็น 25.1 ล้านบาท เยอรมัน 1.8 ล้านบาท เป็น 4.7 ล้านบาท ในปี 2545 และเป็น 9.3 ล้านบาท ในปี 2546 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2546 มีปริมาณสูงขึ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน หากภาครัฐและเอกชนร่วมกันก็จะส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น
แนวโน้มตลาดและความเป็นไปได้  (วันเพ็ญ มีนกาญจน์ 2546   อ้างถึงใน  ยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์  2547 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=117)  ได้กล่าวถึง กรมประมงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งออกปลาสวยงาม โดยได้ร่าง นโยบายพัฒนาประมงแห่งชาติ และบรรจุปลาสวยงามเป็นสินค้าหลักภายใต้นโยบายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาการเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำเพื่อการส่งออกซึ่ง แต่เดิมกรมประมงให้ความสำคัญกับปลาบริโภค และตั้งแต่ปี 2545 กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับปลาสวยงามโดยมีแผน ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์ปลาพื้นเมือง ในปัจจุบันพันธุ์ปลาพื้นเมืองตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณลดลง อาทิ ปลาปล้องอ้อย ปลากระทิงไฟ ปลาก้างพระร่วง ส่วนปลานำเข้าที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ เช่น ปลาปอมปาดัวร์ ซึ่งผู้เพาะเลี้ยงได้พัฒนาเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียง
จากการรวบรวมตัวเลขปี 2540 มีฟาร์มปลาสวยงาม 1,900 กว่าฟาร์ม พื้นที่ 2,800 ไร่ ยกเว้นกรุงเทพฯ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ฟาร์ม ในการประมวลข้อมูล ไทยสามารถผลิตปลาสวยงามสนองตลาดโลกได้อย่างแน่นอน

2.1  ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
1)  สหรัฐอเมริกา   เป็นตลาดนำเข้าปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศ ไทยมากที่สุด โดยมีมูลค่าประมาณ 40.8 ล้านเหรียญสหรัฐโดยปลาสวยงามที่อเมริกานิยมนำเข้าส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีขนาด เล็ก คุณภาพไม่สูงมากนัก ราคาต่ำ ปริมาณมาก เช่น ปลากัด ปลาคาร์พ ขนาดเล็ก 3-4 นิ้ว ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลากัด ปลาแพลทตี้ ปลาหมู ปลาออสการ์ ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร์ เป็นต้น การสั่งซื้อจะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล โดยฤดูหนาวจะมียอดนำเข้ามากในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่คนมักจะอยู่กับบ้านจึงนิยมเลี้ยงปลาไว้ดูเล่น
2)  กลุ่มประเทศยุโรป   เป็นตลาดนำเข้าปลาสวยงามที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการนำเข้าปลาสวยงามทั้งสิ้นปีละ 82 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศที่นำเข้าปลาสวยงามห้าอันดับแรก คือ เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ปลาสวยงามที่นำเข้าในกลุ่มประเทศยุโรปจะค่อนข้างใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา คือ เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ราคาต่ำ และในช่วงการสั่งปลาจะเป็นฤดูกาลเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา
3)  ญี่ปุ่น  เป็นตลาดนำเข้าปลาสวยงามเป็นอันดับสามของโลก โดยมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 39 ล้านเหรียญสหรัฐ ปลาสวยงามที่นำเข้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นปลาสวยงามที่มีคุณภาพสูงราคาสูง เช่น หางนกยูงที่สวยและมีคุณภาพสูงโดยจะซื้อปลาที่โตเต็มที่แล้วเนื่องจากไม่ต้อง เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลาเพื่อให้มีขนาดโตพอที่จะสามารถโชว์ได้ นอกจากนั้น นิยมปลาแปลก ปลาที่หายาก รวมถึงพรรณไม้น้ำ มีการนำเข้าค่อนข้างมาก

2.2  ประเทศคู่แข่งที่ส่งออกปลาสวยงาม ที่สำคัญ

การแข่งขันทางการค้าของประเทศคู่แข่งในการส่งออกปลาสวยงาม     อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล  (2546 : http://www.nicaonline.com/articles/site/ view_article.asp? idarticle=111)  ได้กล่าวถึง ดังนี้ ในการดำเนินธุรกิจการส่งออกปลาสวยงามจะมีคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญๆ คือ ผู้ส่งออกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพราะมีปลาสวยงามที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาสวยงามของไทย และสิงคโปร์ยังนำเข้าปลาในประเทศใกล้เคียงแล้วส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่ว โลกโดยมีราคาต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เหมือนๆกัน      นอกจากนี้สิงคโปร์ยังส่งเสริมธุรกิจปลาสวยงามโดยให้มีการรวมกลุ่มของ ผู้เลี้ยงปลาสวยงามและผู้ส่งออกเพื่อปรับปรุงคุณภาพปลาสวยงามให้ดียิ่งขึ้น มีการตรวจคุณภาพก่อนการบรรจุหีบห่อและทำการขนส่ง จึงทำให้ปลาสวยงามของประเทศสิงคโปร์เป็นที่ยอมรับของลูกค้าต่างประเทศ ส่วน อินโดนีเซียและมาเลเซียนิยมส่งออกปลาสวยงามที่มีราคาแพง แต่ในปัจจุบันได้มีการเพาะปลาขนาดเล็กจำนวนมากเพื่อป้อนเข้าสู่สิงคโปร์ ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ปลาสวยงามส่วนใหญ่ได้แก่ปลาทะเลที่ได้จากการจับจาก ธรรมชาติ ปัจจุบันก็มีคู่แข่งที่มีแนวโน้มที่จะมาแย่งตลาดปลาสวยงามมากขึ้น เช่น ศรีลังกา ฮาวาย และจาไมก้า เป็นต้น แต่เนื่องจากมีความต้องการปลาสวยงามอย่างต่อเนื่องจึงยังไม่มีปัญหาเรื่อง การตลาด       ดังนั้นการที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถ ของผู้ประกอบธุรกิจเป็นหลักการแข่งขันในตลาดปลาสวยงามนั้นสามารถแบ่งได้เป็น การแข่งขันทางตรงและการแข่งขันทางอ้อม  ประเทศที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญ มีดังนี้
1)  สิงคโปร์  เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในโลกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดโลก โดยในปี 2000 สิงคโปร์สามารถส่งออกปลาสวยงามได้สูงถึง 43.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นผู้รับซื้อปลาสวยงามจากประเทศในแถบเอเซียตะวันออก เฉียงใต้ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาที่ถูกส่งมาจากมาเลเซียแล้วนำมาส่งต่อไปยัง ประเทศต่างๆ เพราะสิงคโปร์ขาดศักยภาพในการเลี้ยงปลาสวยงามเองเนื่องจากขาดพื้นที่และน้ำ จืดที่ใช้ในการเลี้ยง นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่มีราคาแพงเองเพื่อให้ได้คุณภาพ ที่ดีตามต้องการซึ่งปลาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ ปลาอโรวาน่า  ดังนั้นจึงทำให้สิงคโปร์มีต้นทุนการเลี้ยงปลาสวยงามต่ำและมีความหลากหลาย ของชนิดปลาสวยงามสูง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งปลาสวยงามไปยังประเทศคู่ค้าต่ำกว่าประเทศไทย มาก
2)  มาเลเซีย ส่งออกปลาสวยงามคิดเป็นมูลค่าประมาณ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก มาเลเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตปลาสวยงามได้สูงเนื่องจากมี ทรัพยากรธรรมชาติมาก ทั้งทางด้านดิน น้ำ และแรงงาน ปลาสวยงามที่ผลิตได้มีประมาณ 550 ชนิด จากทั้งหมดทั่วโลกประมาณ 1,500 ชนิด ปลาที่สร้างชื่อเสียงให้มาเลเซียมากที่สุด คือ ปลาอโรวาน่า เนื่องจากมาเลเซียเป็นต้นกำเนิดของปลาชนิดนี้ และสามารถทำการขยายพันธุ์และส่งออกมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีปลาปอมปาดัวร์ที่มาเลเซียสามารถส่งออกได้มากด้วย มาเลเซียจัดเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย     เนื่องจากมีศักยภาพดีกว่าและรัฐบาลยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการ เลี้ยงปลาสวยงามเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง นอกจากนี้ผู้ส่งออกของมาเลเซียยังมีพื้นฐานทางด้านภาษาดีกว่าผู้ส่งออกของ ไทยด้วย
3)  อินโดนีเซีย  เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการเพาะขยายพันธุ์ปลาที่ดี แต่มีระบบการจัดการไม่ดีเท่ามาเลเซีย และรัฐบาลยังให้การสนับสนุนไม่เต็มที่ เนื่องจากมักจะมีปัญหาเรื่องการเมืองตลอดเวลา ปลาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางได้แก่ปลาอโรวาน่า เพราะสามารถจับจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากเนื่องจากยังมีความอุดมสมบรูณ์ของ รัพยากรธรรมชาติสูง
4)  ฮ่องกง   การทำธุรกิจส่งออกของฮ่องกงจะคล้ายกับสิงคโปร์ คือรับปลาสวยงามจากประเทศอื่นแล้วนำมาส่งต่อไปยังประเทศลูกค้า ไม่ทำการเพาะพันธุ์เอง เนื่องจากขาดศักยภาพทางด้านต่างๆ แต่เนื่องจากฮ่องกงมีความได้เปรียบทางด้านความสามารถในการขายสูงจึงเป็นคู่ แข่งที่น่ากลัวอีกประเทศหนึ่งของไทย

3.  ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องการส่งออกปลาสวยงาม
การส่งออกปลาสวยงามประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น     อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล  (2546 : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=111) ได้กล่าวว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ  ดังนี้
3.1  ความหลากหลายของสายพันธุ์    มีผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงและมีแนว โน้มที่จะพัฒนาเพื่อนำสินค้าที่เพาะเลี้ยงได้เพื่อการส่งออกจำเป็นที่จะต้อง เข้าใจธุรกิจส่งออกปลาสวยงามนี้ว่า การส่งออกให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องมีความหลากหลายของสายพันธุ์อยู่ในสต็อกเพื่อไม่ให้ลูกค้าผิด หวัง
3.2  การจัดการด้านคุณภาพ   ปัจจุบันนี้ ผู้ส่งออกบางรายใช้จุดขายเรื่องของคุณภาพของสินค้าเป็นสำคัญ โดยเอาแนวความคิดเรื่อง การจัดการด้านคุณภาพโดยควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่การคัด เลือกพ่อแม่พันธุ์ของปลาสวยงาม การเพาะเลี้ยง การควบคุมคุณภาพอาหารและน้ำที่ใช้ในการเลี้ยง การตรวจสอบคุณภาพปลาสวยงาม ตลอดจนถึงการบรรจุภัณฑ์ และการขนส่งสินค้าจนถึงลูกค้า โดยบริษัทจะดำเนินการขอใบรับรองกระบวนการผลิตและใบรับรองคุณภาพสินค้าจาก องก์กรตรวจสอบคุณภาพต่างๆ เช่น International Standard Organization (ISO)
3.3  ตอบสนองความต้องการของลูกค้า  ได้อย่างถูกต้อง ตรงเวลาที่กำหนด และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าระยะยาว ความต้องการของลูกค้าต่างประเทศแตกต่างกันตามความชอบของแต่ละประเทศ
3.4  การบริหารเงินสดหมุนเวียนที่ดี   เนื่องจากการซื้อขายระบบเงินสด แผนกการเงินจะนำเอกสารใบสั่งซื้อมาจัดทำเอกสารวางบิลเพื่อเรียกเก็บเงินตาม เงื่อนไขที่กำหนด และบันทึกบัญชีขาย โดยให้ลูกค้าโอนเงินมาเข้าบัญชีของบริษัทเพื่อชำระค่าสินค้าและออกใบเสร็จ รับเงินให้กับลูกค้าและบันทึกบัญชีรับเงิน
การทำธุรกิจส่งออกปลาสวยงามนั้น ปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่เติบโตตลอด โดยมีหลักการที่สำคัญจำเป็นที่จะต้องเตรียมปลาให้มีคุณภาพ มีความสม่ำเสมอของสินค้า สร้างความหลากหลายของสินค้า ดังที่ได้รับทราบจากผู้ส่งออกที่กล่าวกันว่า การที่จะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ  นี้เพียงแค่ให้มีลูกค้าประจำเพียง 5 ราย ก็เพียงพอแล้ว หรือถ้าเกษตรกรรายใดสามารถที่จะมีผู้รวบรวมซื้อปลามาซื้อปลาจากฟาร์มเป็น ประจำ ก็สามารถที่จะประกอบอาชีพนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ

———————————————————————————————————————-
ทรงศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์  (2551) “การตลาดปลาสวยงาม”  เรื่อง การผลิตและการตลาดปลาสวยงาม
ของ เกษตรกร ผู้ทำการค้าใน เขตจตุจักร วิทยานิพนธ์ ปริญญาเกษตรศาสตร
มหาบัณฑิต แขนงวิขาส่งเสริมการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Comments are closed.