แนวคิดเกี่ยวกับปลาสวยงาม

แนวคิดเกี่ยวกับปลาสวย งาม

ทรงศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์

1. ประวัติการเลี้ยงปลาสวยงาม ได้มีการบรรยาย เกี่ยวกับประวัติที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาสวยงาม (Cuet and Bird, 1970 อ้างถึงใน ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์ 2549 : http://home. kku.ac.th/pracha/Introduction.htm ) ไว้ ดังนี้
ค.ศ. 1596 Chang Chente ได้เขียนหนังสืออธิบายถึงวิธีการเลี้ยงปลาทองในบ่อเลี้ยง
ค.ศ. 1665 Samuel Pegys ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาสวยงามในแก้ว
ค.ศ. 1853 มีการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นที่ The London Zoological Garden ประเทศอังกฤษ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งแรกของโลก
ค.ศ. 1868  M. Simon กงสุลชาวฝรั่งเศสประจำเมืองนิงโป ประเทศจีน ได้นำปลาสวยงามพวก Paradise – fish กลับประเทศฝรั่งเศส และมีรายงานว่าปลาเหล่านี้สามารถ แพร่พันธุ์ได้
นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่าคำว่า Aquarium ตามพจนานุกรมของ Oxford หมายถึงบ่อหรือภาชนะที่สร้างขึ้นเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำหรือพืชน้ำ ส่วนความหมาย โดย ทั่วๆไป หมายถึงภาชนะที่สามารถเก็บน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นภายในอาคารสำหรับเลี้ยงปลาและหรือพันธุ์ไม้น้ำ
สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงปลาทองซึ่งนำเข้ามาเลี้ยงโดยชาวจีน ตั้งแต่ตอนกลางของสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อประมาณ 40 กว่าปี มีการนำปลาสวยงามมาจำหน่ายที่ท้องสนามหลวง ระหว่างวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ “ตลาดนัดสนามหลาวง” หลังจากนั้น ได้ย้ายมาอยู่ที่บริเวณ ริมถนนพหลโยธินหน้าตลาดหมอชิต ข้างสวนจตุจักร ชื่อว่า “ตลาดนัดจตุจักร” จนปัจจุบัน ต่อมามีตลาดขายส่งปลาสวยงาม เกิดขึ้นติดกับตลาดนัดจตุจักร คือ “ตลาดซันเดย์”
ปัจจุบัน ตลาดซันเดย์ได้ถูกรื้อถอน ทำให้ตลาดขายส่งและขายปลีกปลาสวยงามกระจายไปสู่บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ตลาดศรีสมรัตน์ ตลาดจตุจักรพลาซ่า ตลาดเจ.เจ.มอลล์ นอกจากนี้ยังมีตลาดขายส่งและขายปลีกปลาสวยงาม อื่นๆ เช่น ตลาดบ้านโป่ง ราชบุรี ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี กรุงเทพมหานคร ตลาดสนามหลวง 2 ทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

2. การจำแนก ประเภท และกลุ่มชนิดพันธุ์ปลา


2.1 จำแนกตามวิธีการสืบพันธุ์
ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์ (2549 : http://home.kku.ac.th/pracha/Breeding.htm) กล่าวไว้ว่า เนื่องจากปลามีประเภทและชนิดพันธุ์มากมาย และมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านลักษณะ ขนาด และถิ่นที่อยู่อาศัย พบว่าปลามีการสืบพันธุ์ทุกแบบของการสืบพันธุ์แบบมีเพศ (Sexual Reproduction) ของพวกสัตว์ ซึ่งสามารถจำแนก เป็นประเภท ได้ดังนี้
1) ประเภทการสืบพันธุ์แบบแยกเพศ (Bisexual Reproduction) เป็นวิธีการสืบพันธุ์ของปลาส่วนใหญ่ ปลาจะมีการแยกเพศกันเด่นชัด มีปลาเพศผู้ผลิตเชื้อตัวผู้ และปลาเพศเมียสร้างรังไข่ ได้แก่ปลาทั่วๆไป เช่น ปลาทอง ปลาคาร์พ ปลาเทวดา ปลากัด
2) การสืบพันธุ์แบบกะเทย (Hermaphroditism) เป็นการสืบพันธุ์ที่มีการสร้างเซลสืบพันธุ์ทั้งเชื้อตัวผู้และไข่ภายในปลา ตัวเดียวกัน ปลาที่มีการสืบพันธุ์แบบนี้มีไม่มากนัก แบ่ง เป็น 2 ลักษณะ คือ แบบที่สร้างเชื้อสืบพันธุ์ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เช่นปลาในครอบครัวปลากะรัง (ปลาทะเล) แบบที่มีการเปลี่ยนเพศ ปลาพวกนี้ในช่วงแรกของชีวิตจะเป็นเพศหนึ่ง เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีขนาดโตขึ้นจะกลายไปเป็นอีกเพศหนึ่ง เช่น ปลา Sparus ช่วงแรกจะเป็นเพศผู้ ต่อมาจะกลายเป็นเพศเมีย ปลาเก๋า ปลากะรัง และปลาไหลนาสกุล Monopterus ช่วงแรกเป็นเพศเมีย ต่อมาจะกลายเป็นเพศผู้
3) การสืบพันธุ์แบบพาร์ธิโนเจเนซิส (Parthenogenesis) กลุ่มปลาออกลูกเป็นตัว เป็นการสืบพันธุ์ที่ไข่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อน โดยไม่ต้องได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้ เกิดได้กับ ปลาออกลูกเป็นตัว เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอดชนิดต่างๆ ซึ่งปกติปลาเหล่านี้จะสืบพันธุ์แบบแยกเพศ แต่ในขณะที่ ไม่มีเพศผู้ของปลาเหล่านี้อยู่ ปลาเพศเมียอาจอาศัยน้ำเชื้อเพศผู้จากปลาชนิดอื่น ช่วยกระตุ้นให้ไข่มีการพัฒนาโดยที่เชื้อตัวผู้ไม่ได้เข้าไปผสมพันธุ์ด้วย ไข่จะเกิดการแบ่งเซลพัฒนาไปโดยมีโครโมโซมครบจำนวน (เป็น Diploid) แต่เนื่องจากเป็นโครโมโซมจากแม่เพียงตัวเดียว ทำให้ลูกปลาที่เกิดมาจะมีแต่เพศเมียเท่านั้น
2.2 จำแนกตามลักษณะของการผสมพันธุ์
ได้จำแนกประเภทปลาตามลักษณะของการผสมพันธุ์ ดังนี้
1) ปลาที่มีการผสมพันธุ์แบบ Oviparous เป็นการผสมพันธุ์ของปลาส่วนใหญ่ โดยปลาเพศเมียจะปล่อยไข่ในน้ำแล้วปลาเพศผู้ที่ว่ายน้ำตามมาจะปล่อยน้ำเชื้อ ลงในน้ำเช่นกันเชื้อตัวผู้จะว่ายน้ำอย่างรวดเร็วเข้าผสมกับไข่ทางช่องเปิด จากนั้นไข่ปลาที่ได้รับการผสมแล้วจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนในน้ำ
2) ปลาที่มีการผสมพันธุ์แบบ Viviparous เป็นการผสมภายในตัวแม่เหมือนกับสัตว์บก โดยปลาเพศผู้จะมีท่อสำหรับส่งน้ำเชื้อเพื่อผสมกับปลาเพศเมีย ซึ่งพัฒนามาจากครีบท้อง ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะได้รับอาหารจากแม่ทางสายสะดือคล้ายสัตว์บก จนคลอดออกมาเป็นตัว ตัวอย่างปลาพวกนี้ได้แก่ ปลาฉลาม และปลากระเบนบางชนิด
3) ปลาที่มีการผสมพันธุ์แบบ Ovoviviparous เป็นการผสมภายในตัวแม่เช่นกัน แต่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่เอง ไม่ได้รับอาหารจากตัวแม่ จนคลอดออกเป็นตัว ตัวอย่างปลาพวกนี้ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาสอดชนิดต่างๆ และปลาเซลฟิน ปลาเพศผู้ของปลาพวกนี้จะมีท่อส่งน้ำเชื้อเช่นกัน แต่พัฒนามาจากครีบก้น
2.3 จำแนกตามลักษณะของ แหล่งวางไข่

ปลาที่อยู่ในประเภทที่มี การสืบพันธุ์แบบแยกเพศ และมีการผสมพันธุ์แบบ Oviparous สามารถจำแนก ประเภท และกลุ่มของปลาดังกล่าวได้ตามลักษณะของแหล่งวางไข่ของปลา โดยมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่ของปลา ที่แปลกแตกต่างกันอย่างมากมาย ทั้งก่อนการวางไข่ รวมทั้งหลังวางไข่ โดยสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1) ประเภทแหล่งน้ำไหล ปลาที่วางไข่ในน้ำไหลส่วนใหญ่เป็นปลาที่ไม่มีการดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน และการแพร่พันธุ์มักจะเกิดในช่วงฤดูน้ำหลาก
(1) พวกมีไข่แบบครึ่งลอยครึ่งจม ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะถูกกระแสน้ำพัดพาไป จากนั้นเปลือกไข่จะขยายตัวอุ้มน้ำเข้าไป ช่วยป้องกันกา รกระทบกระแทกให้แก่เม็ดไข่ เช่น ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลากาดำ ปลาหมู
(2) พวกมีไข่ลอย ปลาก็จะขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ ปล่อยไข่ลอยมาตามกระแสน้ำ เช่น ปลาหมอไทย ปลากระดี่จูบ
(3) พวกไข่ติด ปลาก็จะขึ้นไปวางไข่ตามแหล่งน้ำท่วม ปล่อยไข่ติดตามรากพันธุ์ไม้น้ำ หรือใบหญ้า เช่น ปลาสวาย ปลากด ปลาแขยง ปลาคาร์พ และปลาทอง
2) ประเภทแหล่งน้ำนิ่ง มักเป็นปลาที่มีการดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน โดยมีการเลือกพื้นที่ แล้วทำการตกแต่ง หรือมีการสร้างรังโดยเฉพาะลักษณะการสร้างรังแบบต่างๆมีดังนี้
(1) รังแบบกระทะ ปลาจะทำรังเป็นแอ่งทรงกลมเหมือนกระทะตามชายน้ำ เช่น ปลานิล
(2) รังเป็นโพรงมีรากพันธุ์ไม้น้ำ ปลาจะขุดโพรงเข้าไปตามชายน้ำที่มีรากไม้ เพื่อวางไข่ติดตามรากไม้ ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน เช่นปลาดุก
(3) รังเป็นหวอดระหว่างพันธุ์ไม้น้ำ ปลาจะสร้างรังโดยฮุบอากาศผสมน้ำลายสร้างเป็นฟองอากาศ เป็นกลุ่มอยู่ตามใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำ เรียกหวอด เมื่อวางไข่แล้ว ปลาเพศผู้จะดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน เช่นปลากัด และปลากระดี่ชนิดต่างๆ
(4) รังเป็นวงระหว่างพันธุ์ไม้น้ำ ปลาจะแหวกพันธุ์ไม้น้ำออกเป็นพื้นที่ว่างรูปวงกลม แล้ววางไข่ลอยอยู่ภายในวงกลมนั้น ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน เช่นปลาชะโด
(5) รังคล้ายรังนก ปลาจะคาบเศษหญ้ามาสานทำเป็นรังคล้ายรังนก แล้ววางไข่เข้าไปภายในรัง ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน เช่น ปลาแรด
(6) รังเป็นวัสดุแข็งตามก้นบ่อ ปลาจะเลือกบริเวณที่เป็นพื้นที่แข็งและค่อนข้างเรียบตามชายน้ำ จากนั้นจะทำความสะอาดกัดเอาตะไคร่น้ำ และไล่ตะกอนออกเป็นวง แล้ววางไข่ ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน เช่น ปลาเทวดา ปลาออสการ์ ปลาปอมปาดัวร์ และปลาหมอชนิดต่างๆ

3. กลุ่มปลาสวยงาม ที่นิยมเลี้ยงและส่งออก
อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล (2546: http://www.nicaonline.com/ articles/site/ view_article.asp?idarticle=111) ได้กล่าวถึงการจัดกลุ่ม ปลาสวยงามมีการส่งออกของประเทศไทยมีประมาณ 200 ชนิด ในขณะที่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 1,500 ชนิด มีการจัดกลุ่ม ดังนี้

3.1 กลุ่มปลากัด (Siamese  Fighting  Fish)

ปลากัด เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง สร้างรังเป็นหวอดระหว่างพันธุ์ไม้น้ำ แบ่งตามลักษณะต่างๆ ดังนี้
- ครีบหาง เช่น หางสั้น หางยาว หางมงกุฎ สองหาง หรือ หางฮาฟมูน
- สี เช่น แดง เขียว ฟ้า ฯลฯ
- เพศ เช่น เพศเมีย เพศผู้
ปลากัดที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยถูกจัดให้เป็นชนิด splendens  หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens Regan, 1910 ปัจจุบันได้มีการสำรวจพบชนิดของปลากัดประมาณ 50 – 60 ชนิด แบ่งกลุ่มตามลักษณะการวางไข่ออกเป็น 2 กลุ่ม (http://home.kku.ac.th/pracha/Betta.htm)
กลุ่มแรก เป็นปลากัดที่ก่อหวอดวางไข่  เป็นปลากัดที่ผู้เพาะเลี้ยงปลากัดส่วนใหญ่ดำเนินการกันมานานแล้ว  ปลาเพศผู้จะสร้างรัง เรียกว่าหวอดที่บริเวณผิวน้ำและจะติดอยู่ใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำชายฝั่ง  เพื่อใช้ในการฟักไข่  ตัวอย่างปลากัดในกลุ่มนี้ เช่น  Betta coccina B. Brownorum,  B. burdigala,   B. livida,  B. rutilans,  B. tussyae
กลุ่มที่สอง เป็นปลากัดอมไข่  เป็นปลากัดที่ถูกนำมาเลี้ยงยังไม่นานนัก  เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการแพร่พันธุ์วางไข่คล้ายกับปลาหมอสีกลุ่มที่อมไข่  เพื่อให้ไข่ฟักตัวภายในปาก ตัวอย่างปลากัดในกลุ่มนี้ เช่น  Betta akarensis,  B. Patoti,    B. anabatoides,   B. Macrostoma,
B. albimarginata,   B. channoides
ปลากัดที่มีเพาะเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน   มีหลายสายพันธุ์ดังนี้
1) ปลากัดลูกหม้อ   มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น  ส่วนหัวค่อนข้างโต ปากใหญ่  ครีบสั้นสีเข้ม เดิมมักจะเป็นสีเขียว หรือสีน้ำเงินแกมแดง แต่ปัจจุบันมีหลายสี เช่นสีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว และสีนาก เป็นชนิดที่มีความอดทน กัดเก่ง ได้รับ ความนิยมสำหรับการกัดพนัน
2) ปลากัดลูกทุ่ง   มีลักษณะลำตัวเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ ลำตัวค่อนข้างยาวครีบยาวปานกลางหรือ ยาวกว่าพันธุ์ลูกหม้อเล็กน้อย สีไม่เข้มมากนัก ส่วนมากมักจะเป็นสีแดงแกม เขียว เป็นพันธุ์ที่มีความตื่นตกใจได้ง่ายที่สุด การกัดจะมีความว่องไว มากกว่าพันธุ์ลูกหม้อปากคมแต่ไม่ค่อยมีความอดทน ใช้เวลาประมาณ  30  นาทีจะรู้ผลแพ้ชนะ  นิยมใช้ในวงการกัดพนันเช่นกัน
3) ปลากัดลูกผสม หรือพันธุ์สังกะสีหรือพันธุ์ลูกตะกั่ว  เป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง โดยอาจผสมระหว่างพ่อเป็นปลาลูกหม้อ กับแม่เป็นปลาลูกทุ่ง หรือพ่อเป็นปลาลูกทุ่งกับแม่เป็นปลาลูกหม้อ  ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะ ปากคมกัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ
4) ปลากัดจีน  เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความ สวยงาม  พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ปลามีหางยาวและสีสันสดเข้ม จนในปัจจุบัน สามารถผลิตปลากัดจีนที่มีความสวยงามอย่างมาก มีครีบต่างๆค่อนข้างยาว โดย เฉพาะครีบหางจะยาวมากเป็นพิเศษและมีรูปทรงหลายแบบ มีสีสันสดสวยมากมายหลาย สี  เป็นปลาที่ไม่ค่อยตื่นตกใจเช่น เดียวกับปลาหม้อ แต่ไม่มีความอดทน  เมื่อปล่อยกัดกันมักรู้ผลแพ้ชนะภาย ใน 10 นาที ไม่นิยมใช้ในการกัดพนัน
ปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์ปลากัดสามารถเพาะพันธุ์ปลากัดสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาอีก หลายสายพันธุ์  และมีความหลากหลายทางด้านสีสันอีกด้วย ทำให้มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ปลากัด เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ได้แก่ ปลากัดสองหาง ปลากัดหางหนามมงกุฎ ปลากัดหางพระจันทร์ เป็นต้น

3.2 กลุ่มปลาไทย

ปลาในกลุ่มปลาไทย เป็นปลาที่ จัดอยู่ในประเภทปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล ได้แก่ ปลาก้างพระร่วง, ปลากาแดง, ปลาทรงเครื่อง, ปลาหางไหม้, ปลาน้ำผึ้ง
1) ปลาก้างพระร่วง (Glass catfish)
อังสุนีย์ ชุณหปราณ (2547: http://www.nicaonline.com/articles/ site/view_article.asp?idarticle=122) ได้เรียบเรียง ไว้ว่า ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กจัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน ไม่มีเกล็ด รูปร่างด้านข้างแบนมาก ลำตัวยาวเรียว ท่อนหางโค้งงอเล็กน้อย มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่น อาทิ ภาคกลางเรียกปลาก้างพระร่วง ปลากระจก ภาคใต้เรียก ปลาบาง ปลาผีสำหรับชื่อวิทยาศาตร์ของปลาตัวนี้คือ Kryptopterus bicirrhis (Cuv. & Val.) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Glass Catfish ลักษณะ เด่น ของปลาชนิด นี้คือ เนื้อปลาจะมีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน ลำตัวยาวแบนข้างมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกอยู่บนขากรรไกรบน มีขนาดยาวและชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้น อยู่บนขากรรไกรล่าง ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากแทบมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต เฉพาะส่วนของหัวและกระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทึบแสง ขนาดของปลาโดยทั่วไปมีความยาว 8-10 เซนติเมตร ความยาวสูงสุดไม่เกิน 15 เซนติเมตร
2) ปลาหางไหม้ (Silver shark)
เฉลิมวิไล ชื่นศรี (2539: http://www.nicaonline.com/articles1/site/ view_article.asp?idarticle=120 ) ได้เขียนไว้ว่า ปลาหางไหม้ เป็นปลาเผ่าพันธุ์เดียวกับ ปลาตะเพียนขาว ปลาหางไหม้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balantiocheilos melanopterus ชาวต่างประเทศรู้จักดีในชื่อ Silver shark คนไทยอาจรู้จักปลาตัวนี้ในชื่อ ปลาหางเหยี่ยว ปลาหนามหลังหางดำ
ปลาหางไหม้มีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียน ลำตัวเพรียวยาว ส่วนหัวแหลมเล็ก สันท้องเป็นเหลี่ยมกว้าง ส่วนครีบต่างๆสีสีเหลืองอ่อนและมีสีดำขลิบที่ริมโคนครีบ ทุกครีบยกเว้นครีบหู เกล็ดบนเส้นข้างตัวมี 34-35 เกล็ด ครีบหลังและครีบท้องตั้งต้นตรงแนวเดียวกัน ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 3 ก้านและก้านครีบอ่อน 8 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 1 ก้าน และก้านครีบอ่อน 9 ก้าน ครีบหูมีแต่ก้านครีบอ่อน 18 ก้าน ปากปลาหางไหม้ยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนยื่นยาวกว่าริมฝีปากล่าง ในต่างประเทศอาจยาวถึง 35 เซนติเมตร ในประเทศไทยยาวประมาณ 20เซนติเมตร ปลาหางไหม้สังกัดอยู่ในครอบครัว Cyprinidae
3) ปลาทรงเครื่อง (Redtail Shark)
ปลาทรงเครื่อง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Epalzeorhynchos bicolor Smith. (1931) และชวลิต วิทยานนท์ (2542 : http://lightning.prohosting.com/~variety/article/ redtail_shark.htm) ได้เขียนไว้ว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบในประเทศไทยเท่านั้น พบในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เจ้าพระยา และบางปะกง โดยอาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำธารที่มีพืชพรรณค่อนข้างหนาแน่น สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในประเทศไทย จากมติการจัดสถานภาพของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์โดยผู้เชี่ยวชาญและสำนักนโยบายและ แผนสิ่งแวดล้อมปี 2539 ปลาทรงเครื่องเป็นปลาพื้นถิ่นชนิดหนึ่งของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทั่วโลก ในฐานะที่เป็นปลาตู้สวยงามชนิดหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงและส่งออกขายมาเป็น เวลานานกว่า 30 ปี ปลาทรงเครื่องจัดอยู่ในกลุ่มปลาสร้อยที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง มีขนาดใหญ่สุถึง 12 เซนติเมตร แต่ที่พบทั่วไปไม่เกิน 8 เซนติเมตร ลักษณะสำคัญคือ ลำตัวเพรียว ปากเล็ก มีติ่งรอบปาก และมีหนวดสองคู่ ที่จะงอยปากมีติ่งเนื้อเล็ก ๆ ข้างละหนึ่งอัน ครีบหลังมีฐานค่อนข้างยาง ครีบหางเว้าลึก เกล็ดเล็ก มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวประมาณ 36-40 แถว ลำตัวมีสีคล้ำถึงน้ำตาลคล้ำ ด้านท้องสีจาง ที่เหนือครีบอกมีจุดเล็ก ๆ สีดำ ครีบทุกครีบเป็นสีดำหรือคล้ำ ครีบหลังมีขลิบสีขาวหรือสีจาง ยกเว้นครีบหางสีแดงสด ครีบอกของปลาที่มาจากลุ่มแม่น้ำบางปะกงมักมีสีคล้ำอมแดง
ปลาทรงเครื่องมีชื่อทางการค้าว่า ฉลามหางแดง ในวงการปลาสวยงามที่ปากน้ำโพเรียกว่า ปลาหางแดง ปลาชนิดนี้เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบในประเทศไทยเท่านั้น อาศัยอยู่ในแม่น้ำและลำธารสาขาในบริเวณที่มีกรวด หิน และพรรณไม้ใกล้ชายฝั่ง เคยพบชุกชุมในลุ่มน้ำภาคกลางในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำโพจนถึงชัยนาท แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก จนถึงแม่น้ำบางปะกงตอนบน ส่วนในลำธารสาขาพบเฉพาะที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง และแม่กลองเท่านั้น ที่จังหวัดราชบุรียังเคยเป็นแหล่งที่จับและส่งออกที่สำคัญด้วย ปลาชนิดนี้กินสาหร่ายและตะไคร่น้ำที่เหาะตามหินและกิ่งไม้ รวมถึงตัวอ่อนแมลงน้ำ มักจะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 5-10 ตัว และมีอุปนิสัยหวงถิ่นคล้ายกับปลากัดในบางครั้ง ปลาทรงเครื่องวางไข่แบบครึ่งจมครึ่งลอยประมาณครั้งละ 1,000 – 1,500 ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวภายในเวลาประมาณ 30 ชั่วโมง

3.3 กลุ่มปลาออกลูกเป็นตัว

ปลาออกลูกเป็นตัว มีการสืบพันธุ์แบบพาร์ธิโนเจเนซิส เป็นการสืบพันธุ์ที่ไข่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อน โดยไม่ต้องได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Ovoviviparous เป็นการผสมภายในตัวแม่ แต่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่เอง ไม่ได้รับอาหารจากตัวแม่ จนคลอดออกเป็นตัว
วันเพ็ญ มีนกาญจน์ และคณะ (2546 : http://www.nicaonline.com/ articles1/site/view_article.asp?idarticle=142) ได้กล่าวถึง กลุ่มปลาออกลูกเป็นตัว ไว้ ปลาออกลูกเป็นตัวแบ่งออกได้เป็น 2 อันดับใหญ่ ๆ คือ Beloniformes และ Cyprinodontiformes ซึ่งมีครอบครัว (Family) และครอบครัวย่อย (Subfamily) ปลาในกลุ่มออกลูกเป็นตัวในครอบครัวที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงและซื้อขายเป็นปลา สวยงามในประเทศไทยกันอย่างแพร่หลายมี เพียง 2 สกุล คือ สกุล Poecilia และ Xiphophorus ประกอบด้วยปลาทั้งหมด 7 ชนิด (Species) ดังนี้คือ
1) ปลาหางนกยูง (Poecilia reticulata Peters, 1859)
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (2545 ข : http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=71) อธิบายไว้ว่า ปลาหางนกยูงที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม(fancy guppy) ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับการคัดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์มาจาก พันธุ์พื้นเมือง (wild guppy) ที่พบแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติลักษณะเด่นที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ คือ ลักษณะสีและลวดลายบนลำตัวและลวดลายบนครีบหางและรูปแบบของครีบหางซึ่งในการ เรียกสายพันธุ์ต่างๆ จะถูกตั้งชื่อตามลักษณะ ดังกล่าว
ลักษณะเด่นที่ใช้คัดสายพันธุ์ คือ ลักษณะสีและลวดลายบนลำตัว ลักษณะสีและลวดลายของครีบหาง พันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีประมาณ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ Cobra (คอบร้า), Tuxedo (ทักซิโด), Mosaic (โมเสค), Grass (กร๊าซ), และ Sword tail (หางดาบ)
2) ปลาเซลฟิน มอลลี่ (Poecilia latipinna Le Sueur, 1821) และมีชื่อสามัญว่า Sailfin molly พบแพร่กระจายในแถบ เซาท์แคโรไลน่า ถึงเม็กซิโก กินตัวอ่อนแมลงและแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร ขนาดความยาวโดยเฉลี่ย 10 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้มีครีบหลังสูงและยาวคล้ายใบเรือมีก้านครีบอ่อน13-14 ก้าน
3) ปลามอลลี่ (Poecilia sphenops Valenciennus, 1846) และชื่อสามัญว่า Molly พบแพร่กระจายในแถบอเมริกากลาง เม็กซิโก กินตัวอ่อนแมลงและแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร ความยาวโดยเฉลี่ย 10 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปลาเซลฟินมอลลี่ แต่ครีบหลังมีขนาดเล็กกว่ามาก
4) ปลาเซลฟิน (Poecilia vilifera Regan, 1914) และมีชื่อสามัญว่า Giant sailfin molly พบแพร่กระจายในแถบ เม็กซิโก กินตัวอ่อนแมลงและแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารขนาดความยาวเฉลี่ย 12.5 เซนติเมตร มีครีบหลังสูงและยาวกว่าเซลฟินมอลลี่มีก้านครีบอ่อน16-19 ก้าน
5) ปลาสอด (Xiphophorus helleri Heckel, 1845 )และชื่อสามัญว่า Swordtail พบแพร่กระจายอยู่ในเม็กซิโก ถึงกัวเตมาลา กินพืชน้ำ แพลงก์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร ขนาดความยาวโดยเฉลี่ย 12.5 เซนติเมตร เพศผู้มีก้านครีบหางตอนล่างยาวเลยขอบหางมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายดาบ
6) ปลาแพลทตี้ (Xiphophorus maculatus Gunther, 1866) และมีชื่อสามัญว่า Platy หรือ Moonfish พบแพร่กระจายอยู่ในเม็กซิโก ถึงกัวเตมาลา กินพืชน้ำ แพลงก์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร ขนาดความยาวโดยเฉลี่ยในเพศเมีย 7.5 เซนติเมตร เพศผู้ 4.0 เซนติเมตร
7) ปลาวาเรียตัส (Xiphophorus variatus Meek, 1904) และมีชื่อสามัญว่า Variatus พบแพร่กระจายอยู่ในเม็กซิโก กินตัวอ่อนแมลง แพลงก์ตอนสัตว์และพืชน้ำเป็นอาหารขนาดโดยเฉลี่ย 7.5 เซนติเมตร

3.4 กลุ่มปลากระดี่

ปลากระดี่ เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง สร้างรังเป็นหวอดระหว่างพันธุ์ไม้น้ำ เช่นเดียวกับปลากัด แบ่งตามชนิดปลา ได้แก่ กระดี่นาง กระดี่นางฟ้า สลิด หมอตาล กระดี่ไฟ กระดี่ปากหนา กระดี่มุก กระดี่แคระ พาราไดซ์
ปลากระดี่ได้มีการเขียนไว้ใน งูๆ ปลาๆ ดอด คอม (ม.ป.ป. : http://www. samud.com/index.asp) ดังนี้
1) ปลากระดี่แคระ (Colisa lalia) มีชื่อสามัญว่า (dwarf gourami) เป็นปลาเป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวเพรียวแบนข้าง พื้นลำตัวมีสีน้ำตาล แดง อมเขียว มีแถบลายแดงคาดอย่างเป็นระเบียบ มีเกล็ดเล็กละเอียด สาก คลีบเรียวยาวคล้ายหนวด นิสัยขี้อาย แต่ในช่วงใกล้ผสมพันธุ์จะมีนิสัยดุมากชอบลอยตัวอยู่นิ่งๆ อยู่ที่ระดับผิวน้ำ มีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ หนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัย ขยายพันธุ์และ หลบหลีกจากศัตรู มีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ โดยใช้วิธีฮุบอากาศ เหนือผิวน้ำเพื่อหายใจ ไม่ต้องผ่านช่องเหงือก จึงสามารถดำรงชีวิตได้ เมื่ออยู่ในที่แคบๆ หรือที่ๆมีปริมาณ ออกซิเจนต่ำ
2) ปลากระดี่มุก (Colisa leeri) มีชื่อสามัญว่า (pearl or mosaic gourami) เป็นปลาเป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวเพรียวแบนข้าง พื้นลำตัวสีเทา มีจุดสีขาววาวกระจายทั่วตัว คล้ายมุก และมีแถบดำคาดกลาง ตั้งแต่ปากจรดหาง บริเวณโคนหางมีจุดสีดำข้างละ 1 จุด มีเกล็ดเล็กละเอียด สาก คลีบเรียวยาวคล้ายหนวด นิสัยก้าวร้าว
3) ปลากระดี่หม้อ สลาก สลาง (Trichogaster trichopterus) มีชื่อสามัญว่า (three spot gourami) เป็นปลาเป็นปลาขนาดเล็ก ที่รูปร่างสวยงามมากกว่า ปลากระดี่ชนิดอื่น ทางภาคเหนือเรียกว่า ปลาสลาง แถบแม่กลาง แม่สะเรียง เรียกเป็นปลาสลาก ลำตัวเป็นสีเงิน เทาอมฟ้า มีริ้วดำพาดขวางเป็นทางประตลอดลำตัว มีเกล็ดเล็กละเอียด สาก ลักษณะพิเศษคือมีจุดดำ ที่กลางลำตัวและตรงบริเวณ คอดหางแต่ละจุด แต่ที่เรียกว่า three spot gourami เนื่องจากนับ รวมลูกตาเข้าไปด้วย คลีบเรียวยาวคล้ายหนวด
4) ปลากระดี่นาง (Trichogaster microlepis) มีชื่อสามัญว่า (Moonlight Gourami) เป็นปลาที่ไม่ค่อย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามกันนัก ลำตัวเพียวยาว แบนข้าง ปากและหัวเล็ก พื้นลำตัวมีสีขาวเงิน เหลือบฟ้า มีเกล็ดเล็กละเอียด สาก คลีบเรียวยาวคล้ายหนวด นิสัยก้าวร้าว ชอบกัดและทำร้ายปลาอื่นๆ แม้กระทั่งพวกเดียวกัน

3.5 กลุ่มปลาทอง

ปลาทอง เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล พวกไข่ติด เช่นเดียวกับ ปลาคาร์พ ปลากด ปลาสวาย ปลาแขยง เป็นต้น
วันเพ็ญ มีนกาญจน์ และคณะ (2543 : http://www.fisheries.go.th/fpo-phichit/newproduck/goldfish.htm) ได้ให้ความรู้เรื่อง ปลาทอง โดยได้กล่าวไว้ ดังนี้ ปลาทอง บางครั้งนิยมเรียกว่า ปลาเงินปลาทอง   มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ ว่า Goldfish เป็นปลาน้ำจืด อยู่ในครอบครัว Cyprinidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carassius auratus (Linn.) ซึ่งปลาทองมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีนตอนใต้  ปัจจุบันมีสายพันธุ์ปลาทองมากกว่า 100 สายพันธุ์ การตั้งชื่อปลาทองแต่ละสายพันธุ์นั้นจะตั้งชื่อตามลักษณะลำตัวและลักษณะครีบ ซึ่งเราสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆได้ 2 กลุ่ม
1) พวกที่มีลำตัวแบนยาว (Flat body type) ปลาในกลุ่มนี้ส่วนมาก มีลำตัวแบนข้างและมีครีบหางเดี่ยวยกเว้น ปลาทองวากิง ซึ่งมีครีบหางคู่ สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่

(1) ปลาทองธรรมดา (Common goldfish) ลักษณะเหมือนปลาทองที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติมีสีส้ม เขียว ทอง และขาว มีจุดหรือลายสีดำ ลำตัวค่อนข้างยาวและแบนข้าง                                                                                                                                                                                                                                              (2) ปลาทองโคเมท (Comet goldfish) พัฒนามาจาก Common goldfish มีครีบยาวเรียวออกไป โดยเฉพาะครีบหาง ซึ่งอาจจะมีความยาวมากกว่า เศษสามส่วนสี่ หรือหนึ่งเท่าของความยาวลำตัวทำให้ว่ายน้ำได้รวดเร็ว เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ลำตัวมีสีส้ม ขาวเงิน และเหลือง                                                                                                         (3) ปลาทองชูบุงกิง (Shubunkin) คัดพันธุ์ได้ที่ประเทศญี่ปุ่น มีลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาทองธรรมดา แต่มีครีบทุกครีบยาวใหญ่สมบูรณ์กว่ามาก ปลายครีบหางมนกลม ลำตัวอาจมีสีแดง ส้ม ขาว ขาวและแดง หรืออาจมีหลายสี มี 2 สายพันธุ์ คือ london shubunkin และ Bristol shubunkin สายพันธุ์ Bristol shubunkin จะมีครีบหางใหญ่กว่าชนิด London shubunkin
(4) ปลาทองวากิง (Wakin) คัดพันธุ์ได้ที่ประเทศจีน ลำตัวมีสีแดงสดใส และสีขาวสายพันธุ์นี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีลำตัวแบนยาวแต่มีครีบหางเป็นคู่
2) พวกที่มีลำตัวกลมหรือรูปไข่   (Round หรือ Egg-Shaped Body Type)
แบ่งเป็นหลายสายพันธุ์ มีลักษณะครีบ หัวและนัยน์ตาที่แตกต่างกันหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ 2 กลุ่ม โดยพิจารณาจากลักษณะครีบดังนี้
(1) พวกที่มีครีบหลัง มีลำตัวสั้น มีครีบยาวและครีบหางเป็นคู่ เช่น
ก. ปลาทองริวกิ้น (Ryukin) ลักษณะเด่น คือ ลำตัวด้านข้างกว้างและสั้น ส่วนท้องอ้วนกลม มองจากด้านหน้าโหนกหลังสูงขึ้นมากทำให้ส่วนหัวแลดูเล็กครีบหลังใหญ่ยาวและ ตั้งขึ้น ครีบหางเว้าลึกยาวเป็นพวง ทำให้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันอีกหลายชื่อ เช่นVeiltail และ fantail เป็นต้น เกล็ดหนา สีที่พบมากมีทั้งสีแดง ขาว ขาว-แดง และส้ม หรือมีห้าสี คือ แดง ส้ม ดำ ขาว ฟ้า ซึ่งในบ้าน เรานิยมเรียกว่าริวกิ้นห้าสี
ข. ปลาทองออแรนดา (Oranda) เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์หัวสิงห์และพันธุ์ริวกิ้น อาจเรียกว่า Fantail lionhead มีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาวกว่าปลาทองพันธุ์หัวสิงห์และริวกิ้น ลำตัวคล้ายรูปไข่หรือรูปรี ส่วนท้องไม่ป่องมาก ครีบทุกครีบยาวใหญ่โดยเฉพาะครีบหางจะยาวแผ่ห้อยสวยงาม แบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ตามลักษณะหัวและสีได้แก่
ก) ออแรนดาธรรมดา มีลำตัวค่อนข้างยาวรี หัวไม่มีวุ้น ครีบทุกครีบยาวมาก
ข) ออแรนดาหัววุ้น ลำตัวและหางไม่ยาวเท่าออแรนดาธรรมดา แต่บริเวณหัวจะมีวุ้นคลุมอยู่คล้ายกับหัวปลาทองพันธุ์หัวสิงห์แต่วุ้นจะไม่ ปกคลุมส่วนของหัวทั้งหมด จะมีวุ้นเฉพาะตรงกลางของส่วนหัวเท่านั้น และวุ้นที่ดีจะต้องมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเมื่อมองจากด้านบน
ค) ออแรนดาหัวแดง (Red cap oranda) คือ ออแรนดาหัววุ้นแต่จะมีวุ้นบนหัวเป็นสีแดง และลำตัวมีสีขาวภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ตันโจ มีลักษณะลำตัวสีขาวเงิน วุ้นบนหัวเป็นก้อนกลมสีแดง คล้ายปลาสวมหมวกสีแดง
ง) ออแรนดาห้าสี (Calico oranda) ลักษณะเหมือนออแรนดาหัววุ้นทั่วไป แต่มีสีลำตัว 5 สี คือ ฟ้า ดำ ขาว แดง ส้ม
จ) ออแรนดาหางพวง (Vailtail) ลักษณะครีบหางจะยาวเป็นพวง ครีบหลังพริ้วยาว ที่หัวมีวุ้นน้อยหรือไม่มีเลย ส่วนของลำตัวใหญ่สั้น ท้องกลม แต่ส่วนหลังแบนข้างเล็กน้อย บริเวณโหนกหลังสูงชันมาก ทำให้ส่วนหัวดูแหลมเล็กครีบหลังใหญ่ยาวและตั้งสูง ครีบหางเว้าลึกเป็นพวง
ค. ปลาทองเกล็ดแก้ว (Pearl Scales Goldfish) มีลำตัวอ้วนกลมสั้น ส่วนท้องป่องออกมาทั้ง 2 ด้าน เมื่อมองด้านบนจะเห็นเป็นรูปทรงกลม หัวมีขนาดเล็ก ปากแหลม มีลักษณะเด่นที่เกล็ดคือ เกล็ดหนามาก และนูนขึ้นมาเห็นเป็นเม็ดกลม ๆ ซึ่งเกิดจากเกล็ดที่มีสารพวกกัวอานิน (guanine) มากนั่นเอง ลักษณะเกล็ดที่ดีต้องขึ้นครบนูนสม่ำเสมอและเรียงกันอย่างมีระเบียบ ครีบทุกครีบรวมทั้งหางสั้นและต้องกางแผ่ออกไม่หุบเข้าหรืองอ สีที่นิยมได้แก่ สีแดง ส้ม เหลือง ดำ ขาว ขาวแดง ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เกล็ดแก้ว หัวมงกุฎ เกล็ดแก้วหน้าหนู และเกล็ดแก้วหัววุ้น
ง. ปลาทองตาโปน (Telescope Eyes Goldfish) มีลักษณะลำตัวสั้น และส่วนท้องกลมคล้ายๆ กับพันธุ์ริวกิ้น มีลักษณะเด่นที่ตาทั้งสองข้าง โดยตาจะยื่นโปนออกมาด้านข้างเห็นได้เด่นชัด ถือกันว่าตายิ่งโปนมากยิ่งเป็น ลักษณะที่ดี และเมื่อมองจากด้านบนจะต้องมีลักษณะกลมยื่นออกมาเท่ากันทั้งตาซ้ายและตาขวา ครีบทุกครีบและหางจะต้องแผ่กว้าง ปลายไม่หุบเข้า หรืองอไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ครีบที่เป็นครีบคู่จะต้องเท่ากันและชี้ไปในทิศทางเดียวกัน (ขนานกัน) ปลาทองพันธุ์นี้ยังแบ่งออกเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีกตามลักษณะสีบนลำตัวและครีบ ได้แก่
ก) ปลาทองตาโปนสีแดง หรือขาวแดง (Red Telescope-eyes Goldfish) ลำตัวและครีบจะต้องมีสีแดงเข้มหรืออาจมีสีขาวสลับสีแดง และสีขาวจะต้องขาวบริสุทธิ์ไม่อมเหลืองจึงจะถือว่าเป็นลักษณะที่ดี
ข) ปลาทองตาโปน 3 สี หรือ 5 สี (Calico Telescope-eyes Goldfish)   ลำตัวและครีบมีหลายสีในปลาตัวเดียวกัน
จ. ปลาทองพันธุ์เล่ห์ (Black Telescope-eyes Goldfish หรือ Black Moor) ซึ่งได้แก่ ปลาทองที่เรียกว่า รักเล่ห์ หรือเล่ห์นั่นเอง ลักษณะที่ดีของปลาพันธุ์นี้คือ ลำตัวและครีบจะต้องดำสนิทและไม่เปลี่ยนสีไปจนตลอดชีวิต
ฉ. ปลาทองแพนด้า (Panda) นิยมมากในประเทศจีน เป็นปลาทองพันธุ์เล่ห์ที่ได้มีการลอกสีที่ลำตัวจนกลายเป็นสีขาวหรือสีเงิน ส่วนครีบต่าง ๆ จะมีสีดำมี   ลักษณะคล้ายหมีแพนด้า ซึ่งสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะไม่คงที่เพราะมีการลอกสีไปเรื่อย ๆ
ช. ปลาทองปอมปอน (Pompon) ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกที่เพาะพันธุ์ได้ มีลักษณะลำตัวสั้น มองจากด้านบนจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายปลาทองหัวสิงห์แต่แตกต่างกัน ตรงส่วนหัว โดยผนังกั้นจมูกของปลาทองปอมปอนจะขยายเจริญเติบโตออกมาข้างนอกเป็นพู่ 2 ข้างทำให้แลดูแปลกตาออกไป มีช่วงลำตัวยาวและเพรียวกว่าปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นๆ ที่นิยมมากที่สุดคือพันธุ์สีแดงไม่มีครีบหลัง สายพันธุ์ปอมปอนแบ่งออกเป็นปอมปอนหัวสิงห์ ปอมปอนออแรนดา
(2) พวกที่ไม่มีครีบหลัง มีรูปร่างกลมและไม่มีครีบหลัง ปลาทองในกลุ่มนี้จะว่ายน้ำได้ไม่ดีเทียบเท่ากับกลุ่มที่มีครีบหลังได้แก่
ก. ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese Lionhead) จีนเป็นประเทศแรกที่เพาะพันธุ์ปลาทองสายพันธุ์นี้ ชาวตะวันตกเรียกปลาทองสายพันธุ์นี้ว่า Lionhead ในประเทศไทยเรียกว่าปลาทองหัวสิงห์จีน (chinese lionhead) ลักษณะโดยทั่วไปจะมองคล้ายสิงห์ญี่ปุ่นแต่ลำตัวค่อนข้างยาวไม่ สั้นกลมอย่างสิงห์ญี่ปุ่น และส่วนหลังก็จะโค้งน้อยกว่าสิงห์ญี่ปุ่น หางใหญ่ยาวกว่าวุ้นบนหัวจะมีมากกว่าสิงห์ญี่ปุ่น วุ้นขึ้นปกคลุมส่วนหัวทั้งหมดและวุ้นที่ดีจะต้องมีลักษณะเป็นเม็ดละเอียด สีลำตัวและครีบ มักจะมีสีอ่อนกว่าสิงห์ญี่ปุ่น เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร แต่ก็เคยพบบางตัวมีขนาดใหญ่ถึง 25 เซนติเมตร อายุเฉลี่ยประมาณ 5-7 ปี
ข. ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น (Ranchu หรือ Japanese Lionhead) เป็นปลาทองที่คัดพันธุ์ได้ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเรียก Ranchu ลักษณะที่ดีของปลาทองพันธุ์นี้คือ ลำตัวสั้นค่อนข้างกลม ถ้ามองจากด้านบนท้องทั้งสองด้านจะต้องป่องออกเท่ากัน สันหลังโค้งเรียบเป็นรูปไข่ ไม่มีรอยหยักขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีครีบหลัง ครีบทุกครีบสั้น ครีบคู่ทุกครีบต้องมีขนาดเท่ากัน และอยู่ในทิศทางเดียวกัน (ขนานกัน) ครีบหางสั้นและตั้งแข็งแผ่กว้าง วุ้นจะต้องขึ้นทั่วทั้งหัว เช่น บริเวณรอบปาก รอบดวงตาและใต้คาง โดยเฉพาะวุ้นใต้คางควรจะมีมากเป็นพิเศษจนมองดูจากด้านบนหัวจะมีลักษณะเป็น รูปสี่เหลี่ยม ขณะว่ายน้ำต้องทรงตัวได้ดีและว่ายน้ำในลักษณะหัวก้มต่ำเล็กน้อย สีของปลาทองพันธุ์นี้มีหลายสี เช่น แดง แดงและขาว ส้ม ดำ ขาว และห้าสี สีแดงเป็นสีที่ได้รับความนิยมมาก ปลาชนิดนี้ค่อนข้างอ่อนแอเลี้ยงยาก เนื่องจากการผสมเลือดชิด (Inbreed) ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20-25 เซนติเมตร
ค. ปลาทองหัวสิงห์ลูกผสม (Hybrid lionhead, Ranchu x Chinese Lionhead) เป็นปลาลูกผสมเพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทย ซึ่งนำจุดเด่นของปลาทองหัวสิงห์จีน และสิงห์ญี่ปุ่นมารวมกันไว้ในปลาตัวเดียวกัน สาเหตุของการผสมข้ามพันธุ์ เนื่องมาจากปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น จะผสมพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นการนำปลาทองหัวสิงห์จีนมาผสมด้วยจะช่วยให้ปลาแพร่พันธุ์ได้ง่ายและ ได้จำนวนลูกปลาเพิ่มมากขึ้น ลักษณะเด่นของปลาทองหัวสิงห์ลูกผสมคือ วุ้นบนหัวของปลาจะมีขนาดปานกลาง ไม่ใหญ่เท่าปลาทองหัวสิงห์จีน แต่ใหญ่กว่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น หลังโค้งมนมากกว่าปลาทองหัวสิงห์จีน แต่ไม่โค้งและสั้นเท่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น ครีบหางสั้นกว่าปลาทองหัวสิงห์ จีน แต่จะยาวกว่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น
ง. ปลาทองพันธุ์สิงห์ตามิดหรือสิงห์สยาม (Siamese Lionhead) เป็นปลาที่คัดพันธุ์ได้ในประเทศไทย ลักษณะลำตัวทั่ว ๆ ไปคล้ายสิงห์ญี่ปุ่นแต่หัวมีวุ้นมากกว่า วุ้นจะขึ้นคลุมทุก ๆ ส่วนบนหัวแม้กระทั่งส่วนของตาจะมองไม่เห็นเลยจึงทำให้ได้ชื่อว่าสิงห์ตามิด ครีบหางมีขนาดใหญ่กว่าสิงห์ญี่ปุ่นเล็กน้อย ทุกส่วนของลำตัวต้องดำสนิท
จ. ปลาทองพันธุ์ตากลับ (Celestial Goldfish)  เป็นปลาทองที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ชาวจีนเรียกว่าโชเตนงัน(Chotengan) ซึ่งมีความหมายว่า ปลาตาดูฟ้าดูดาว หรือตามุ่งสวรรค์ ญี่ปุ่นเรียกปลาชนิดนี้ว่าเดเมรันชู (Deme- ranchu) ลักษณะเด่นคือ มีตาหงายกลับขึ้นข้างบน ผิดจากปลาทองชนิดอื่นๆ ตาใหญ่สดใสทั้งสองข้าง ส่วนหัวไม่มีวุ้นหรือมีเคลือบเล็กน้อย ไม่มีครีบหลัง ลำตัวยาว หลังตรงหรือโค้งลาดเล็กน้อย ครีบหางยาว
ฉ. ปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง (Bubble Eyes Goldfish) มีลักษณะลำตัวคล้ายพันธุ์หัวสิงห์แต่ค่อนข้างยาวกว่าไม่มีครีบหลัง ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือบริเวณใต้ตาจะมีถุงโป่งออกมาลักษณะคล้ายลูกโป่ง  และถือกันว่าถุงลูกโป่งยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งเป็นลักษณะที่ดี และถุงทั้งสองข้างจะต้องมีขนาดเท่ากัน ปลาพันธุ์นี้ที่พบมากมีสีแดง ส้ม หรือสีผสมระหว่างสีแดงและสีขาว หรือส้มและขาว จัดเป็นปลาที่เลี้ยงยากและเพาะพันธุ์ได้ยาก ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร

3.6 กลุ่มปลาปอมปาดัวร์ (discus)

มี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphysodon discusปลาปอมปาดัวร์ เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง สร้างรังเป็นวัสดุแข็งตามก้นบ่อ
แบ่งตามลวดลายและสีของลำตัว
- Brown discus ได้แก่ 5สีแดง, 5สีน้ำตาล, 5สีเหลือง
- Red turquoise ได้แก่ 7สีแดง, 7สีเขียว, 7สีบลู
- Green and blue ได้แก่ บลูเยอรมัน, บลูไดมอน
- Snake skin ได้แก่ ลายงู, ฝุ่นลายงู
- Solid pigeon blood ได้แก่ ฝุ่นทอง ฝุ่นมุก ฝุ่นแดง
- Spotted discus ได้แก่ ลายจุด
สมุด ดอท คอม samud.com (ม.ป.ป : http://www.samud.com/index.asp) ได้สรุปไว้ว่า ปลาปอมปาดัวร์(Pompadour) หรือมีชื่อเรียกสามัญภาษาอังกฤษว่า Discus อยู่ในสกุลของ Symphysodon และจัดอยู่ในครอบครัว Cichlidae ซึ่งเป็นครอบครัวปลาที่ใหญ่ที่สุดครอบครัวหนึ่ง โดยมีมากถึงกว่า 600 ชนิด มีชื่อเรียกรวมๆกันทั่วไปว่า Cichilds ปลาในครอบครัวนี้ส่วยใหญ่มีถิ่นกำเนิดและพบอาศัยในเขตร้อน โดยเฉพาะทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
ลักษณะที่สำคัญของปลาในครอบครัวนี้ คือ มีครีบหลังต่อกันยาวตลอด ส่วนของลำตัว และบริเวณส่วนครีบหน้าจะเป็นหน้าแหลม ซึ่งจะต่อติดกับครีบอ่อนที่อยู่ด้านท้ายลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ รูจมูกมีเพียงข้างละรู ซึ่งแตกต่างจากปลาในครอบครัวอื่นที่มีรูจมูกข้างละ 2 รู ปลาจำพวก Cichilds มักจะมีสีสันบนลำตัวสวยงาม จึงมีผู้นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ซึ่งคนรู้จักกันทั่วไป เช่น ปลาเทวดา ปลาออสก้าร์ ปลาหมอสี เป็นต้น ส่วนที่นำมาเลี้ยงเป็นอาหารก็คือ ปลาหมอเทศ ปลานิล เป็นต้น
ปลาปอมปาดัวร์ เป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะเป็นรูปทรงกลมลำตัวแบนมีความกว้างของลำตัวมากจนมี ลักษณะคล้ายจานตามครีบหลังและครีบท้องเรียนเป็นแนวยาวตลอดจนถึงครีบหาง โดยบริเวณด้านหน้าของครีบหลังและครีบทวารที่ต่อกันกับครีบอ่อนด้านท้ายจะมี ลักษณะ แข็งเป็นหนามแหลมคล้ายเงี่ยง ลวดลายและสีสันลำตัวมีอยู่ด้วยกันหลายสี ขนาดโตเด็มที่ประมาณ 6-8 นิ้วเป็นปลาที่มีการเคลื่อนไหวเนิบนาบดูอ่อนช้อยสวยงามมีถิ่นกำเนิดเดิมที่ ลุ่มแม่น้ำอเมซอน อันเป็นแม่น้ำที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมีลำน้ำสาขาต่างๆไหลผ่านครอบคลุมหลายประเทศด้วยกัน เช่น บราซิล เวเนซุเอลา โคลัมเบียและเปรู ซึ่งปัจจุบันบริเวณลุ่มแม่น้ำนี้ยังคงความเป็นธรรมชาติไม่แตกต่างไปจากเดิม สำหรับปลาที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ และมีระดับ ความลึกของน้ำไม่มากนักมักหลบอาศัยตามรากไม้น้ำหรือใต้พุ่มไม้น้ำที่มี ลักษณะหนาแน่น

3.7 กลุ่มปลาเทวดา (Angel fish)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterophyllum eimkei ปลาเทวดา เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง สร้างรังเป็นวัสดุแข็งตามก้นบ่อ แบ่งตามลวดลายของลำตัวได้แก่ ม้าลาย หินอ่อน มุก ดำ ครึ่งชาติ ทอง
โกวิทย์ พุฒทวี (2549: http://www.nicaonline.com/articles/site/ view_article.asp?idarticle=155 )ได้อธิบายไว้ว่า ปลาเทวดามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่อเมริกาใต้ แถบลุ่มน้ำโอริโนโก ลุ่มน้ำอเมซอน เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในน้ำนิ่งที่มีต้นไม้ขึ้นระเกะระกะ มีรากไม้ห้อยระโยงละยาง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ปลามีลายเส้นแถบๆ แนวตั้ง เพื่อให้กลมกลืนกับเงาของรากไม้ที่กระจายอยู่ในแหล่งอาศัยนั้น รูปร่างลักษณะ ปลาเทวดาเป็นปลาที่มีลักษณะตัวแบนมาก ครีบและหางยื่นยาวออกมาจากลำตัว ครีบท้องมีอยู่หนึ่งคู่เรียวเล็กและปลายชี้แหลม โดยทั่วไปมีพื้นลำตัวเป็นสีเงิน ขนาดเล็กละเอียดเป็นมันวาว สายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น จะมีลักษณะลำตัวสีเทาอมเขียว และมีประกายสีเงินเคลือบทับทั่วตัว บางตัวก็จะมีจุดสีแดงเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วบริเวณไหล่ ส่วนบริเวณหลังจะเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก เมื่อโดนแดดจะเห็นประกายสีน้ำตาลแดงแวววาว ส่วนสายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาขายในบ้านเรา มีชื่อเรียกว่า เทวดายักษ์หรือเทวดาอัลตัม เทวดาสายพันธุ์นี้เป็นเทวดาป่า ที่มีโครงสร้างแตกต่างจากปลาเทวดาสายพันธุ์อื่น โดยโครงสร้างร่างกายจะออกในแนวสูงกว่าเทวดาอื่นๆ ประกอบกับความยาวและตั้งตรงของครีบ ทำให้ปลาเทวดาอัลตัมดูใหญ่โตกว่าปลาเทวดาสายพันธุ์อื่นๆ มาก โดยเฉพาะความสูงรวมครีบบนและล่าง จะสูงถึง 15 นิ้ว ขณะที่ความยาวของตัวรวมหางเพียง 8 นิ้ว เท่านั้นสำหรับโครงสร้างลำตัว จะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีแถวเกล็ดจากขอบเหงือกลากยาวไปจรดครีบหางทั้งสิ้น 41-47 เกล็ด หน้าผากปลาเทวดาสายพันธุ์นี้จะมีความลาดตั้งชันกว่าปลาเทวดาสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนสีเนื้อของปลาจะเป็นสีเทาอมเขียว และมีประกายสีเงินเคลือบทับทั่วตัว คล้ายกับ เทวดาสายพันธุ์ “P. scalare”
จุดเด่นอีกประการคือ จะมีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ประปรายบริเวณส่วนหัวแก้มและไหล่ ส่วนบริเวณลำตัวจะมีลายเส้นสีดำจนถึงเทาเข้มพาดแนวตั้ง หรืออาจจะเป็นสีน้ำตาลไหม้กลมกลืนกับจุดบนลำตัวก็ได้ ลายเส้นที่ลำตัวจะมีจำนวนเท่ากับ สายพันธุ์ P.scalare โดยเส้นที่ยาวสุดจะเป็นเส้นที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นคาดเอว

3.8 กลุ่มปลาออสการ์

เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง สร้างรังเป็นวัสดุแข็งตามก้นบ่อ
อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล (2545 : http://www.nicaonline.com/articles/site/ view_article.asp?idarticle=85) ปลาออสการ์เป็นพันธุ์พื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำ Orinoco, อะเมซอน และ La Plata ในทวีป อเมริกาใต้ แต่เดิมพบในลำคลองแถบ ไมอามี่ และ Dade Country ที่ฟลอริด้า มีการเลี้ยงในฟาร์มปลาเพื่อเป็นอาหารและกีฬา ต่อมาได้มีการนำเข้ามาเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยกระจายอยู่ทั่วไปแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเซีย ปลาออสการ์ (Astronotus ocellatus) เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lobotes ocellatus ชื่อสามัญว่า Oscar, Red Belvet, Velvet Cichlid, Marbled Cichlid, Peacock-Eyed Cichilid, Tiger Oscar, Peacock Cichilid อยู่ในครอบครัว Cichlidae มีนิสัยค่อนข้างดุ โตเต็มวัยมีความยาวขนาด 12 – 14 นิ้ว ชอบกินอาหารที่มีชีวิต สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้
ปลาออสก้าร์ แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 5 ชนิด ออสการ์สีพื้น ลายเสือ สีแดง สีเผือก หางยาว อาจจะพบประเภทอื่น ๆ อีก ได้แก่ เผือกตาแดง สีฟ้า (อาจจะมาจากการย้อม) และลายหินอ่อน นอกจากนั้นยังมี เผือกทอง เผือกเสือแดง หรือมีตั้งแต่สีขาว น้ำตาลจนกระทั่งสีดำ มีลายสีแถบแดงที่ด้านข้างลำตัว สีของปลาขนาดเล็กพบว่ามีสีแดงสลับกับสีดำ เมื่อโตขึ้นสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีเทาและสีส้มแดง ส่วนครีบมีสีดำหรือทอง

3.9 กลุ่มปลาบาร์บ

เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous ได้แก่ เสือสุมาตรา, ทีบาร์บ, โรซี่บาร์บ
ปลาเสือสุมาตรา หรือ เสือข้างลาย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ป.ป. : http://www.vet.ku.ac.th/libraryhomepage/db_directory/fish/fish_tiger_type.htm ) ได้เขียนไว้ดังนี้ ชื่อสกุล  Barbus tetrazona ชื่อไทย  ปลาเสือข้างลาย, เสือสุมาตรา ชื่ออังกฤษ  Tiger barb, Sumatra barb, Five – banded barb พบในแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ธารน้ำตก ในเขตภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย สำหรับในต่างประเทศได้แก่ มาเลเซีย และตอนกลางของสุมาตรา เป็นต้นปลาเสือข้างลายลำตัวมีสีเหลืองอมเขียว หรือสีเหลืองอมน้ำตาล ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ แถบดำห้าแถบที่พาดขวางลำตัวแต่สำหรับแถบที่สามอาจมองเห็นเพียงเป็นจุดดำ บริเวณโคนครีบหลัง จากที่ลำตัวสีเหลืองสลับลายดำจึงทำให้ได้ชื่อว่า “ปลาเสือ” ปลาเสือข้างลายตัวผู้สีจะเข้มจัดกว่าตัวเมีย ปลาเสือสุมาตราเป็นปลาขนาดเล็ก ปลาที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาเสือข้างลายมีอยู่หลายชนิด เช่น ปลาเสือทับทิมดำ ( Black ruby barb) ปลาเสือจีน ( Chinese barb) และบาร์บัส เพนตราโชนา เป็นต้น

3.10 กลุ่มปลาหมอสี

ปลาหมอสี ได้แก่ มาลาวี, ไตรทอง, ฟลาวเวอร์ฮอร์น เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง สร้างรังเป็นวัสดุแข็งตามก้นบ่อ เช่นเดียวกับ ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา ปลาออสการ์
ยุพินท์  วิวัฒนชัยเศรษฐ์ (2548: http://www.nicaonline.com/articles/site/ view_article.asp?idarticle=142) ได้กล่าวถึง ปลาหมอสี ไว้ดังนี้ ปลาหมอสีเป็นปลาสวยงามประเภทหนึ่งในวงศ์ชิคลิดี หรือปลาชิคลิด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและแพร่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคในเขตร้อนของโลก ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้
แหล่งกำเนิดปลาหมอสี ได้แก่
1) ทะเลสาบมาลาวี เป็นทะเลสาบน้ำจืดในทวีปแอฟริกา มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก มีปลาหมอหลายกลุ่ม เช่น
(1) กลุ่มนอนเอ็มบูนา มีประมาณ 250 ชนิด 38 สกุล การจำแนกสกุลโดยใช้แพทเทิร์นของเมลานิน (เม็ดสีประเภทสีดำที่อยู่ในผิวหนังของปลา) เป็นหลัก ความยาวโดยเฉลี่ย 15 เซนติเมตร เช่น ปลหมอคริสตี้ ปลาหมอมาลาวีเหลือง ปลาหมอมาลาวีน้ำเงินคอแดง ปลาหมอมาลาวีน้ำเงิน ปลาหมอรอสตราตัส ปลาหมออิเล็กทริกบลู เป็นต้น
(2) กลุ่มเอ็มบูนา มี 250 ชนิด 10 สกุล การจำแนกสกุลใช้ลักษณะของฟันเป็นหลัก เป็นปลาที่มีสีสวยสะดุดตาความยาว 10-12 เซนติเมตร เช่น ปลาหมอกล้วยหอม ปลาอีสเทิร์นบลู ปลาหมอดีมาสัน ปลาหมอลิลลี่
2) ทะเลสาบแทนแกนยีกา เป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ปลาหมอสีที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบแทนแกนยีกา เช่น ปลาหมอฟรอนโตซ่า ปลาหมอแซงแซว ปลาหมอดูบอยซี่ ปลาหมอลองจิออร์
3) ทะเลสาบวิกตอเรีย เป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ได้แก่ ปลาหมอออบลิคิวเดนซ์ ปลาหมอในเออร์รี ปลาหมอบราวนี
4) อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ปลาหมอสีในภูมิภาคนี้มีรูปร่าง วิถีชีวิตและพฤติกรรมแตกต่างไปจากหมอสีมาลาวี หมอสีแทนแกนยีกา และวิกตอเรีย สำหรับปลาในกลุ่มอเมริกากลาง ได้แก่ ปลาหมอริวูเลตัส ปลาหมอบราซิเบียน ปลาหมอหมอคาพินเต้ หรือกรีนเท็กซัส ปลาหมอฟลามิงโก หรือเรด เดฟเวิล ปลาหมอมาคู ปลาหมอตาแดง
ปลาหมอสกุล ต่างๆ ได้แก่
(1) สกุลแอริสโทโครมิส มีเพียง 1 ชนิดคือ ปลาหมอคริสตี้
(2) สกุลออโลโนคารา ได้แก่ ปลาหมอมาลาวีเหลือง ปลาหมอมาลาวีสีน้ำเงินคอแดง ปลาหมอมาลาวีห้าสี ปลาหมอมาลาวีน้ำเงิน
(3) สกุลโคพาไดโครมิส ชนิดปลาในสกุลนี้ อาทิ หมอบอร์เลยี คาดันโก
(4) สกุลลาบิโอโทรเฟียสสกุลนี้มีเพียง 2 ชนิด หมอปากโลมาตัวอ้วนห้าสีหมอปากโลมาตัวผอม

3.11 กลุ่มปลาแฟนซีคาร์พ

ปลาแฟนซีคาร์พ (Fancy Carp) หรือที่เรียกกันว่าปลาไนแฟนซี ปลาไนสี หรือปลาไนทรงเครื่อง เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มปลาตะเพียน ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โคย (Koi) หรือนิชิกิกอย (Nishikigoi) จัดอยู่ในประเภท ปลาออกลูกเป็นไข่ มีลักษณะการผสมพันธุ์แบบ Oviparous อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล พวกไข่ติด เช่นเดียวกับ ปลาทอง
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (2545 ค :
http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=68 ) อธิบายถึงสายพันธุ์และลักษณะของปลาคาร์พไว้ดังนี้ ชื่อปลาแบบญี่ปุ่นปัจจุบันการเรียกชื่อปลาแฟนซีคาร์พตามสายพันธุ์ อาศัยการดูลักษณะและรูปร่างแถบสีของปลาเป็นหลัก ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนดการเรียกชื่อของปลานี้โดยแบ่งออกเป็น 13 กลุ่ม ลักษณะดังต่อไปนี้
1) โคฮากุ (KOHAKU)   ”โค” แปลว่า แดง “ฮากุ” แปลว่า ขาว โคฮากุ คือปลาที่มีสีแดงกับสีขาว ปลาที่ดีสายพันธุ์นี้จะต้องเป็นสีขาวสะอาดเหมือนสีหิมะซึ่งจะตัดกับแดงซึ่ง อยู่ในรูปแบบที่ดีอย่างเด่นชัด
2) ไทโช-ซันโชกุ (TAISHO-SANSHOKU)  จักรพรรดิไทโช บิดาของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน คือเริ่มประมาณ ค.ศ. 1912 “ซันโชกุ” แปลว่า 3 สี ปลาคาร์ปพวกนี้พื้นลำตัวเป็นสีขาว แต่ลวดลายหรือจุดแต้มสีแดงหรือสีดำที่เด่นชัด ส่วนสีขาวก็เป็นเหมือนหิมะและที่ครีบหูจะต้องเป็นสีขาวด้วย
3) โชวา-ซันโชกุ (SHOWA-SANSHOKU)   ”โชวา” หมายถึง ยุคหนึ่งในสมัยจักรพรรดิองค์ปัจจุบันครองราช เริ่มประมาณ ค.ศ. 1927 “ซันโชกุ” แปลว่า 3 สี ปลาคาร์พกลุ่มนี้มีพื้นลำตัวเป็นสีดำ แต่มีลวดลายหรือจุดแต้มสีขาวและสีแดง ที่ครีบหูจะต้องมีจุดสีดำ
4) อุทซึริ-โมโน (UTSURI-MONO)   ”อุทซึริ” หมายถึง สีดำที่เป็นลายแถบคาดคลุมจากหลังลงมา ถึงส่วนท้องด้านล่างบนพื้นสีอื่น ๆ ปลาที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น ชิโร-อุทซึริ (Shiro-Utsuri), ฮิ-อุทซึริ (Hi-Utsuri), คิ-อุทซึริ (Ki-Utsuri)
5) เบคโกะ (BEKKO)  “เบคโกะ” แปลว่า กระ ปลากลุ่มนี้มีสีขาว แดง หรือเหลือง สีลวดลายเป็นสีดำ มีลักษณะเหมือนที่พบบนกระดองเต่า คือ สีดำเป็นดอก ๆ บนลำตัว ปลาที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น ชิโร-เลคโกะ (Shiro-Bekko), ฮิ-เบคโกะ (Hi-Bekko), คิ-เบคโกะ (Ki-Bekko) เป็นต้น
6) อาซากิ ชูซุย (ASAGI, SHUSUI)  ”อาซากิ” แปลว่า สีฟ้าอ่อน ส่วนบนของลำตัวปลาเป็นสีฟ้าหรือสีเทา แต่มีลวดลายคล้ายร่างแหหรือตาข่ายคลุม “ชูซุย” หมายถึง ปลาแฟนซีคาร์พพันธุ์เยอรมัน (โดยซึ) ที่มีเกล็ดสีน้ำเงินบนแนวสันหลัง
7) โคโรโมะ (KOROMO)  ”โคโรโมะ” แปลว่า เสื้อคลุม โคโรโมะ หมายถึง ปลาซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างกลุ่มสีโคฮากุ กับกลุ่มสีอาซากิ หรือกลุ่มสีซันโกกุ กับกลุ่มสีอาซากิ สายพันธุ์ที่เกิดใหม่และรู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น อะ-โคโรโมะ (Ai-goromo), ซูมิ-โคโรโมะ (Sumi-goromo) เป็นต้น
8) ฮิการิ-มูจิโมโน หรือ โอกอน (HIKARI-MUJIMONO or OGON)  ”ฮิการิ” แปลว่า แสงรัศมี “มูจิโมโน” แปลว่า ชนิดที่มีสีเดียวกันล้วน ๆ หมายถึงปลาที่มีสีเดียวกันตลอดตัว “โอกอน” เป็นปลาที่มีสีเหลืองทอง Platinum-Ogon เป็นปลาสีเหลืองที่มีประกายเหมือนทองคำขาว, Orange-Ogon เป็นปลาสีเหลืองมีประกายสีส้ม เป็นต้น
9) ฮิการิ-โมโยโมโน (HIKARI-MOYOMONO)  ”ฮิการิ” แปลว่า แสงรัศมี “โมโยโมโน” แปลว่า ชนิดที่ผสม รวมความแปลว่าชนิดที่มีเกล็ดสีเงินสีทองเป็นแสงรัศมี เป็นลูกผสมระหว่างปลาโอกอน กับปลาในกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปลากลุ่ม อุทซึริ ปลาที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น ยามาบูกิ-ฮาริวากี (Yamabuki-Hariwake), คูจากุ (Kujaku) เป็นต้น
10) ฮิการิ-อุทซึริโมโน (HIKARI-UTSURIMONO) เป็นการผสมพันธุ์ปลาระหว่างอุทซึริ กับ โอกอน ได้ลูกปลาสีพันธุ์ต่างๆที่มีสีทองหรือสีเงินแทรกอยู่ เช่น สีของพันธุ์โชวาที่มีสีทองคำขาวแทรกอยู่ (Gin-Showa)สีของพันธุ์อุทซึริที่มีสีทองแทรกอยู่ (Kin-Ki-Utsuri) เป็นต้น
11) คาวาริโมโน (KAWARIMONO)  ”คาวาริ” แปลว่า เปลี่ยนแปลงนอกคอก ไม่เหมือนใคร “โมโน” แปลว่า ชนิด รวมความแปลว่า ชนิดที่สีไม่เหมือนใคร เช่น ปลาสีดำ (Karasugoi) สีชา (Chagoi), สีเขียว (Midorigoi)
12) คินกินริน (KINGINRIN)  ”คิน” แปลว่า ทอง “กิน” แปลว่า เงิน “ริน” แปลว่า เกล็ด รวมความแปลว่า ปลาที่มีเกล็ดทอง เกล็ดเงิน หมายถึงปลาที่มีเกล็ดสีเงินสะท้อนแสงแวววาวเป็นลายเส้นขนานตามแนวยาวของ สันหลัง เช่น ปลาพันธุ์โคฮากุที่มีเกล็ดเงิน (Kinginrin-Kohaku) ปลาพันธุ์เบคโกะที่มีสีเงิน (Kinginrin-Bekko) เป็นต้น
13) ตันโจ (TANCHO)  ”ตันโจ” แปลว่า หงอนแดงของหัวไก่ หมายถึงปลาที่มีสีแดงลักษณะกลมที่หัว ส่วนลำตัวจะมีสีขาวหรือสีอื่นก็ได้ เช่น ตันโจ-โคฮากุ (Tencho Kohaku), ตันโจ-โชวา (Tancho-Showa) เป็นต้นจากการตั้งชื่อกลุ่มปลาดังกล่าวข้างต้น จะสังเกตได้ว่าการเรียกชื่อถือรากศัพท์ของสี สถานที่ ชื่อรัชสมัย ฯลฯ ในประเทศญี่ปุ่นมาเป็นคำเรียก ดังนั้นในการเรียกชื่อปลาแต่ละตัวซึ่งมีลักษณะรวมในกลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่ม ปนกันจึงสามารถนำชื่อกลุ่มเรียงต่อกัน หรือจะตั้งเป็นชื่อใหม่ก็ได้ ตัวอย่างเช่น
(1) ตันโจ-แพลทินั่ม-กินริน (Tancho-Platinum-Ginrin) หมายถึงปลาสีแพลทินั่มที่มีสีแดงกลมที่หัวและเกล็ดสีเงินสะท้อนแสงแวววาว เป็นสายเส้นขนานตามลำตัว
(2) ตันโจ-โชวา-ซันโชกุ (Tancho-Showa-Sanshoku) หมายถึงปลาสีแดง ดำ ขาว ซึ่งมีสีดำเป็นสีพื้นของลำตัวตลอดจนครีบหู และมีสีแดงกลมที่บริเวณหัว
(3) แพลทินัม-โดยซึ (Platinum-Doitsu) หมายถึงปลาพันธุ์เยอรมันมีสีทองคำขาว
(4) ฮิ-อุทซึริ (Hi-Utsuri) หมายถึงปลาสีแดงที่มีสีดำเป็นลายแดงคาดคลุมจากหลังลงมาถึงส่วนท้องด้านล่าง
(5) ชิโร-เบคโกะ (Shiro-Bekko) หมายถึงปลาสีขาวมีลวดลายสีดำเป็นดอกบนลำตัว

3.12 กลุ่มปลาอื่นๆ

ได้แก่ กลุ่มปลาสองน้ำ, กลุ่มปลาเตทตร้า ในจำนวนนี้มีกลุ่มของปลาที่ต้องขออนุญาตในการส่งออก ได้แก่ หมูอารีย์, ปลาติดหิน (ปลาค้างคาว), ปลาตะพัด, ปลาเสือตอ ซึ่งอยู่ในพ.ร.บ.คุ้มครอง และอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในบัญชีไซเตรส ได้แก่ ปลาช่อนยักษ์, ปลายี่สกไทย, ปลาตะพัด และปลาบึก
1) ปลาเสือตอ (Siamese Tiger Fish)
เทคโนโลยีชาวบ้าน (2547 : http://www.nicaonline.com/articles1/site/ view_article.asp?idarticle=145) ปลาเสือตอเป็นปลาสวยงามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่นักเลี้ยงปลาในต่าง ประเทศรู้จักกันดีมาหลายสิบปีแล้วในชื่อ SIAM TIGER FISH มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius microlepis พบทั่วไปในประเทศทางแถบร้อนเช่น อินโดนีเซีย ไทย พม่า เขมร
ปลาเสือตอที่พบในแหล่งน้ำทางภาคอีสานเป็นปลาเสือตอลายเล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Coius undecimraciatus หรือในชื่อเรียกที่รู้จักในตลาดปลาสวยงามว่า “เสือตอลายเล็ก” พบมากในแม่น้ำโขงแถบจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร ปลาเสือตออีกชนิดหนึ่งคือ ปลาเสือตอน้ำกร่อยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius quadrifasciatus หรือเรียกว่า “ปลากะพงลาย” เป็นปลาเสือตอที่ลายเล็กที่สุดมีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว พบในแหล่งธรรมชาติตามปากแม่น้ำแทบทุกแห่งทั่วประเทศ  ปลาเสือตอชนิดที่นิยมและมีราคาสูงที่สุดในปัจจุบันคือ ปลาเสือตอลายใหญ่และเสือตอลายคู่ (ลาย 7 ขีด)
2) ปลาอะโรวาน่า
สมุด ดอท คอม (ม.ป.ป. : http://www.samud.com/index.asp) ปลาอะโรวาน่า นับว่าเป็นสุดยอดปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดมีเกล็ดขนาดใหญ่และ มีสีสันแวววามมีหนวดซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้จะคล้าย”มังกร” ปลาอะโรวาน่าจัดเป็นปลาโบราณอยู่ในตระกูล “Osteoglossidae” ซึ่งเป็นตระกูลของปลา ที่มีลิ้นเป็นกระดูกแข็ง Bony Tongue ปลาชนิดนี้พบกระจายอยู่ใน 4 ทวีปทั่วโลก คือ ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปอัฟริกา และทวีปออสเตรเลีย หากจะแบ่งตามแหล่งกำเนิดสามารถแบ่งได้ 4 แห่ง ได้แก่
(1) อะโรวาน่าจากทวีปเอเชีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Scleropagus formosus กลุ่มทวีปเอเชีย มีลักษณะสีหลายแบบ ได้แก่
ก. อะโรวาน่าทองมาเลย์ Cross Back มีชื่อเรียกหลายแบบตามแหล่งที่พบเช่น ปาหังโกลด์มาลายันโบนีทัง(Malayan Bony Tongue), บูกิทมีบูราบลู, ไทปิงโกลด์เดน หรือเพียงเอ่ยว่า อะโรวาน่าทองมาเลย์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 พวกใหญ่ คือ สายพันธุ์ที่ฐานเกล็ดเป็นสีน้ำเงิน หรือม่วง (Blue or Purple Based) สายพันธุ์ที่ฐานเกล็ดออกสีเขียว (Green Based) สายพันธุ์ที่ฐานเกล็ดออกสีทอง(Gold Based)
ข. อะโรวาน่าทองอินโดนีเซีย Red Tail Golden Arowana เป็นปลาที่ถูกจำแนกอยู่ภายใต้กลุ่ม อะโรวาน่าทอง เช่นเดียวกับทองมาเลย์ ปลาชนิดนี้พบใน Pekan Bara ในประเทศอินโดนีเซีย ทองอินโดแบ่งประเภทตามสีของเกล็ดได้ 4 ประเภทคือ พวกที่มีฐานเกล็ด สีน้ำเงิน,เขียวและทอง
ค. อะโรวาน่าแดง Red Arowana ปลาอะโรวาน่าแดงที่มีขายกันในบ้านเรามีที่มาจากหลายแหล่งน้ำ ในทางตะวันตกของ กัลลิมันตันในประเทศอินโดนีเซีย อะโรวาน่าแดง แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ แดงเลือดนก (Blood Red) แดงพริก (Chilli Red) แดงส้ม (Orange Red) แดงอมทอง (Golden Red) ในปัจจุบันปลาอะโรวาน่าแดงทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ถูกเรียกรวมๆทั้งหมดว่า Super Red
ง. อะโรวาน่าเขียว แหล่งกำเนิดของปลาชนิดนี้พบกระจายอยู่ในมาเลเซียพม่า อินโดนีเซีย และประเทศไทยในแถบจังหวัดจันทบุรี ตราดด้วย ถิ่นกำเนิดที่แพร่กระจายในหลายประเทศ เราจึงพบความหลากหลายในรูปทรงของลำตัว และแบบของสีสัน บางตัวออกเขียวขุ่นแกมดำ รวมทั้งมีรูปทรงคล้ายกับทองมาเลย์ คือ หัวค่อนข้างโต
(2) อะโรวาน่าจากทวีปอเมริกาใต้ มีด้วยกัน 3 ชนิดด้วยกัน คือ อะโรวาน่าเงิน อะโรวาน่าดำ อะโรไพม่า ในลุ่มน้ำอะเมซอน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของปลาชนิดนี้จะเป็นสายน้ำที่ใหญ่มาก ป่าชาวพื้นเมืองจะเรียกปลาอะโรวาน่าว่า “ลิงน้ำ (Water Monkey)” ซึ่งเรียกตามลักษณะการกระโดดกินแมลงที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้เหนือผิวน้ำของปลา ชนิดนี้ ชื่อ สกุลของปลาอะโรวาน่าที่มาจากทวีปนี้ คือ Osteoglossum มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
ก. อะโรวาน่าเงิน Silver Arowana (Osteoglossum bicirhosum) พบได้ใน ประเทศ บาซิล เปรู อะโรวาน่าเงิน (Silver Arowana) อะโรวาน่าชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน และกิอานา(Guiana) อเมริกาใต้
ข. อะโรวาน่าดำ ฺBlack Arowana (Osteoglossom ferreirai) พบได้ในประเทศ บลาซิล เป็น อะโรวาน่าอีกชนิดหนึ่งที่รูปร่างคล้ายกับ อะโรวาน่าเงินมาก ความแตกต่างระหว่างปลาทั้งสองชนิดนี้จะสามารถบอกได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อปลามีขนาดเล็ก ลูกปลาอะโรวาน่าจะสีดำสมชื่อโดยมีแถบสีดำคาดบริเวณตาปลาอะโรวาน่าดำมีถิ่น กำเนิดอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำริโอเนโกร(Rio Negro) ประเทศบลาซิล ปลาชนิดนี้มีเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นพักๆ การเลี้ยงดูค่อนข้างจะยากกว่าสีเงินเล็กน้อย
(3) กลุ่มทวีปแอฟริกา African Arowana (Heterotis niloticus) มีรายงานว่าพบเพียง 1 ชนิด คือ อะโรวาน่าแอฟริกา (Heterotis niloticus) พบในแถบแอฟริกากลาง และตะวันตกซึ่งเป็นชนิดที่มีรูปร่างจะว่าไปแล้วก็แตกต่างจากชาวบ้านมากที่ สุดคือไม่มีหนวดรูปร่างจะค่อนไปทางปลาช่อนบ้านเราซะมากกว่าจะเป็น อะโรวาน่า African Arowana (Heterotis niloticus)หรือ (Clupi sadis niloticus) เป็น อะโรวาน่าชนิดเดียวที่พบในบริเวณลุ่มแม่น้ำส่วนกลางของบริเวณ Sahelo Sandanian และในทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำไนล์และไปจนถึงฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา
(4) กลุ่มทวีปออสเตรเลีย อะโรวาน่าออสเตรเลีย (Saratogas) มี 2 ชนิด
ก. อะโรวาน่าจุดออสเตรเลีย (S. jardini) Spotted Barramundi พบที่ออสเตรเลียเหนือมีชื่อว่า spotted Barramundi(Scleropagus leichardti) มีแหล่งกำเนิดในรัฐควีนแลนด์ในลุ่มแม่น้ำ Dawson
ข. อะโรวาน่าออสเตรเลีย (S. lei chardti) Northern Barramundi พบที่ออสเตรเลียตะวันออกชื่อ Northern Barramundi(Scleropagas jardini) ซึ่งชนิดหลังนี้ยังพบที่อินโดนีเซียอีก พบบริเวณตะวันออกของออสเตรเลียแถบประเทศปาปัวนิวกีนี
———————————————————————————————————————-
ทรงศักดิ์ วงศ์กาฬสินธุ์ (2551) “แนวคิดเกี่ยวกับปลาสวยงาม” เรื่อง การผลิตและการตลาดปลา
สวยงามของเกษตรกร ผู้ทำการค้าใน เขตจตุจักร วิทยานิพนธ์ ปริญญาเกษตรศาสตร
มหาบัณฑิต (ส่งเสริมการเกษตร) แขนงวิขาส่งเสริมการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริม
การเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Comments are closed.